วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

วางแผนเก็บเงินไปต่างประเทศ

ก่อนที่จะไปต่างประเทศนั้น ไม่ว่าไปเรียน เที่ยว หรือทำงาน เราต้องมีเงินเพื่อใช้ในการดำเนินการ อย่างน้อย 50,000-100,000 บาท การจะเก็บเงินนั้น ไม่ใช่แค่เหลือจากเงินเดือน แล้วหยอดกระปุก เราต้องมีการวางแผน ทำอย่างเป็นขั้นตอน การเก็บเงินถึงจะสำเร็จ มีเงินเก็บ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนนี้ 


1. ตั้งเป้าหมาย ก่อนอื่นต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าเราเก็บเงินเพื่ออะไร จะได้มีแรงบันดาลใจในการเก็บเงิน ไม่ใช่เก็บเงินเหลือจากเงินเดือน เพราะถ้าเราคิดจะเก็บเงินแบบนั้นแล้ว อาจเก็บได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางเดือนได้มาก บางเดือนไม่เหลือเลย เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะต้องเหลือเก็บกี่บาท จากนั้นเราก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเท่าไหร่ในระยะเวลากี่เดือน กี่ปี ไม่ใช่เก็บไปเรื่อยๆ ไม่รู้ระยะเวลา เพราะอย่างนั้นแล้วเราจะไม่อยากเก็บ เราต้องทำแผนไว้ เช่น จะเก็บเงินไว้เที่ยวยุโรปเราต้องหาข้อมูลก่อนว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการท่องเที่ยว เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าโรงแรม ค่าชมสถานที่ต่างๆ ค่ารถโดยสาร เป็นต้น 


2. คำนวณรายรับ รายจ่าย เมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว สมมุติว่าเก็บเงินเที่ยวยุโรป 1 อาทิตย์ ต้องใช้เงินประมาณ 65,000 บาท ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเงินให้ได้ภายในหนึ่งปี ดังนั้นในแต่ละเดือนเราจะต้องมีเงินเก็บประมาณ 5,500 บาท จากนั้นนำกระดาษออกมาเขียนคำนวณรายรับ รายจ่ายก่อนว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ และมีรายจ่ายเท่าไหร่ มีเงินเหลือพอที่จะเก็บได้หรือไม่ หากมีเหลือเก็บสามารถเก็บเงินได้ภายในหนึ่งปีจริงหรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องมาหักรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือหารายได้เสริม


ตัวอย่าง
- รายรับ ได้มาจากเงินเดือน 15,000 บาท
- รายจ่าย มีดังนี้
  • ค่าเช่าบ้าน รวมค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต 3,500 ต่อเดือน
  • ค่าเดินทางไปทำงาน ไปกลับโดยรถไฟฟ้า วันละ 50 บาท ไปทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ 20 วันต่อเดือน (20X50= 1,000 บาทต่อเดือน)
  • ค่าอาหาร 3 มื้อ วันละ 200 บาท (200X30= 6,000 บาทต่อเดือน)
  • ค่าของใช้ส่วนตัว เช่น เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก 1,000 บาทต่อเดือน
  • ค่าเสื้อผ้า รองเท้า 500 บาทต่อเดือน
  • ค่าสมาชิกฟิตเนส 100 บาทต่อเดือน
  • ค่าโทรศัพท์ 300 ต่อเดือน
  • รวม 12, 400 บาท
ในหนึ่งเดือนเรามีรายได้ 15,000 บาท รายจ่าย 12, 400 บาท ดังนั้นเราจะมีเงินเหลือประมาณ 2,600 บาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เราต้องเก็บให้ได้  5,500 บาท ซึ่งหากใช้จ่ายเหมือนเดิม เราก็ไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย จึงต้องไปลองคิดทบทวนว่าสามารถหักรายจ่ายส่วนไหนได้บ้าง เช่น 
  • ค่าเดินทาง อาจเปลี่ยนจากการเดินทางโดยรถไฟฟ้า มาเป็นการนั่งรถเมล์ธรรมดาราคาแค่ 10-20 บาท ทำให้ประหยัดเงินไปได้วันละ 30 บาท ในหนึ่งเดือนทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น 600 บาท 
  • ส่วนค่าอาหารอาจลดเหลือ 120 บาท สามมื้อ มื้อละ 40 บาท  ในหนึ่งเดือนทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น 2,400 บาท  เลือกกินของที่มีประโยชน์ หลากหลาย ราคาถูก สะอาด มีคุณภาพ เช่น ตอนเช้ากินนมและขนมปัง ตอนกลางวันข้าวผัด น้ำ และไอศรีม ส่วนตอนเย็นกินผัดไท และผลไม้ อย่าเลือกแค่ให้ถูก หรือกินน้อยลง เพราะอยากมีเงินเก็บ ถ้าทำอย่างนั้นสุขภาพจะแย่ เราจะรู้สึกไม่สบาย ไม่มีพลังในการทำงาน ชีวิตไม่มีความสุข และเกลียดการเก็บเงินไปเลย เราต้องเก็บเงินไปด้วย และมีความสุขกับชีวิตไปด้วย 
  • ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกเดือน สามารถใช้ของเก่า เลือกตัวโน่นมาใส่กับตัวนี่ สลับสับเปลี่ยนกันไป ก็จะช่วยให้ประหยัดเงินไปได้ 500 บาท  คิดจะเก็บเงินนั้น เราต้องหยุดเที่ยว หยุดซื้อของแบบว่าเห็นว่าสวยแล้วซื้อ ซื้อเมื่อจำเป็นต้องซื้อ 
จากการคิดทบทวนหักรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้น (600+2,400+500= 3,500 บาท) จากนั้นบวกกับเงินที่เหลือ (3,500+2,600= 6,100 บาท) ในหนึ่งเดือนเราสามารถมีเงินเก็บ  6,100 บาท ดังนั้นในหนึ่งปีเราจะมีเงินเก็บ (6,100X12= 73,200 บาท) เราสามารถมีเงินไปเที่ยวยุโรป ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีเงินเก็บเหลืออีก (73,200-65,000= 8,200 บาท) เก็บไว้ในธนาคารใช้ยามฉุกเฉิน

3. จัดสรรปันส่วน การใช้เงิน จากข้างต้นเป็นแค่แผนที่ตั้งไว้ การจะเหลือเงินเก็บจริงๆ นั้น เราต้องเคร่งครัดเรื่องการใช้จ่าย และเก็บเงิน โดยต้องมีการจัดสรรการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ 

  • เริ่มจากได้เงินเดือนมา 15,000 บาท เบิกมาแค่ที่เราจะใช้ คือ (15,000-6,100= 8,900 บาท)
  • จากนั้นนำ  8,900 บาท มาแยกเป็นสัดส่วนตามรายจ่ายข้างต้นเก็บแยกในซองจดหมาย จะได้ทั้งหมด 6 ซอง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าสมาชิกฟิตเนส ค่าโทรศัพท์ 
  • ห้ามนำเงินมาปะปนกัน ใช้จ่ายเป็นส่วนๆ เมื่อแบ่งเสร็จแล้ว นำเงินไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าสมาชิกฟิตเนส และค่าโทรศัพท์ 
  • ค่าเดินทางและค่าอาหาร นำมาใส่กระเป๋าเงิน เป็นวันๆ ก็จะได้ค่าอาหารวันละ 120 บาท ค่ารถวันละ 20 บาท ห้ามนำมาใส่ทั้งหมด เพราะเราจะเผลอใช้จนหมด 
  • ค่าของใช่ส่วนตัว นำมาใส่กระเป๋าเมื่อจะไปซื้อของ เช่นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก่อนไปซื้อของ ต้องมานั่งจดว่าจะซื้ออะไรบ้าง ห้ามไปเดินดูแล้วเลือกซื้อ เพราะเราจะใช้เงินเกินที่กำหนด
  • หากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงิน สามารถกดเงินที่เก็บไว้ได้ เพราะจากข้างต้นเรามีเงินเก็บฉุกเฉิน  8,200 บาทต่อปี 

4. ลงมือปฏิบัติ การลงมือปฏิบัตินั้น เราต้องใช้จ่ายตามที่ได้จัดสรรไว้อย่างเคร่งครัด เลิกนิสัยการใช้จ่ายเดิมๆ เห็นแล้วซื้อ เลิกเที่ยวเล่น ใช้จ่ายแค่ที่จำเป็น ช่วงแรกอาจจะยากหน่อย แต่พอเริ่มทำได้ในหนึ่งเดือน เราเห็นเงินเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะมีกำลังใจดีๆ ในการเก็บเงิน บางครั้งอาจเหนื่อย ให้คิดที่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ว่าจะเก็บเงินทำไม ก็ทำให้มีกำลังใจเก็บเงินต่อไป 


5. ประเมินผล ทุกๆ เดือนต้องมาประเมินผลว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หากทำไม่ได้เป็นเพราะอะไร ต้องปรับเปลี่ยนแผนใหม่หรือไม่ เช่น อยากกินอาหารเพิ่ม อยากซื้อหนังสือมาอ่าน อยากดูหนังกับเพื่อน เป็นต้น ก็ลองถามตัวเองว่าจะหักรายจ่ายส่วนไหน หรือต้องหางานเพิ่ม เพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มขึ้น 


6. หางานเสริม ช่วยเพิ่มเงินเก็บ การทำงานเพิ่ม หรือหารายได้เสริมนั้นเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้เก็บเงินได้มากขึ้น เร็วขึ้น แต่เราก็ต้องยอมเหนื่อย บางคร้ั้งอาจไม่มีวันหยุด แต่เรามีเงินเก็บเพิ่มขึ้น โดยเราอาจเริ่มจากการมองหางานที่ชอบ ที่ถนัด และคิดว่าทำแล้วสนุก เช่น งานเขียน งานแปล สอนพิเศษ แจกแบบสอบถาม แจกใบปลิว ขายของทางอินเตอร์เน็ต พิธีกรตามงานต่างๆ จัดดอกไม้ ขายกาแฟ ขายไอติม เฝ้าร้านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เมื่อรู้ว่าชอบงานไหนแล้ว ก็ลองหาในเว็บไซต์หางาน และหาเวลาว่างลองทำดู ทำด้วยความสนุกสนาน ไม่บังคับตัวเองว่าต้องทำ เราก็จะได้ทั้งเงินเก็บ ประสบการณ์ทำงาน พบเพื่อนใหม่ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถือว่าเป็นกำไรที่ดีของชีวิต อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหางานเสริมได้ ที่นี่


สุดท้ายนี้อยากฝากทุกคนไว้ว่า การเก็บเงินนั้นไม่ใช่แค่เก็บเงิน แต่เป็นการรู้จักใช้จ่ายอย่างเหมาะสม รู้ว่าเรามีเงินเท่าไหร่ สามารถใช้จ่ายได้เท่าไหร่ต่อเดือน และต้องเหลือเท่าไหร่ เราต้องทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด แต่อย่างเคร่งเครียด เอาเป็นเอาตาย

ทั้งนี้แต่ละคนก็มีวิธีต่างกันไปในการเก็บเงิน ลองถามหลายๆ คน แล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง ไม่เคร่งเกินไปจนเรารู้สึกแย่ ไม่หย่อนเกินไปจนเก็บเงินไม่ได้ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เดี๋ยวก็เก็บได้เอง เริ่มจากเก็บน้อยๆ ไปก่อน อย่าตั้งเป้าหมายสูง เมื่อเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินได้ ก็จะเก็บได้มากเอง ขอให้สนุกกับมัน และให้คิดเสมอว่าเราได้ทำสิ่งดีๆ ในชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น



ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกสนานในการเก็บเงิน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น