บทความนี้เขียนสำหรับคนไทยที่มีโอกาสไปเรียนต่อ ทำงาน เข้าร่วมโครงการ หรือแลกเปลี่ยนที่อเมริกา แล้วเกิดตกลงปลงใจแต่งงานกับชาวอเมริกัน และตัดสินใจจะใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา ซึ่งหลังจากแต่งงานแล้วก็จะต้องมีการทำกรีนการ์ด (Green Card) หรือบัตรเขียว
หลายคนอาจสงสัยว่าทำได้ด้วยตนเองเลยเหรอ ใช่คะ ทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องจ้างทนายให้เปลืองเงิน โดยบทความนี้จะแนะนำวิธีการเตรียมตัวทำกรีนการ์ด ตั้งแต่การกรอกเอกสาร หลักฐาน ไปจนถึงการสัมภาษณ์
ก่อนอื่นนั้นเรามาทำความรู้จักกับเจ้ากรีนการ์ดกันก่อนเลยว่ามันคืออะไร มีกี่ประเภท
กรีนการ์ด (Green Card) เป็น
บัตรประจำตัวที่รัฐบาลอเมริกันออกให้สำหรับบุคลลที่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาอยู่อาศัยรวมทั้งทำงานอย่างถาวรในสหรัฐอเมริกา
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรีนการ์ดแบบมีเงื่อนไข (Conditional Green Card) มีอายุ 2 ปี คนที่จะได้รับกรีนการ์ดประเภทนี้ ได้แก่ คนที่ขอกรีนการ์ดโดยการแต่งงานกับพลเมืองสหรัฐฯ รวมทั้งผู้ที่ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่จากการลงทุนเพื่อการสร้างงานในสหรัฐฯ อีกประเภทหนึ่งคือ กรีนการ์ดแบบถาวรที่ต้องต่ออายุทุกๆ 10 ปี โดยผู้ถือกรีนการ์ดทั้งสองแบบนั้นต่างมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบเท่า ๆ กัน ความแตกต่างระหว่างกรีนการ์ดทั้งสองแบบมีเพียงเล็กน้อย คือ กรีนการ์ดแบบมีเงื่อนไข จะหมดอายุภายใน 2 ปี จำเป็นต้องยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนเงื่อนไขนั้นออกไป ถึงจะได้กรีนการ์ดถาวรแบบ 10 ปี
สิทธิ 1. มีสิทธิอยู่อาศัยในสหรัฐฯ เป็นการถาวร โดยไม่กระทำการใดๆ เป็นผลให้สิทธิถูกถอดถอนไป 2. มีสิทธิทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 3. ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากทางการสหรัฐฯ ทั้งกฎหมายระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น 4. สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น เฉพาะการเลือกตั้งที่ไม่จำกัดไว้สำหรับพลเมืองสหรัฐฯ ข้อยกเว้น - ไม่สามารถทำงานบางอย่างที่สามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งจะจำกัดไว้ให้เพียงพลเมืองสหรัฐฯ เท่านั้น - ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งที่จำกัดสิทธิไว้ให้เพียงพลเมืองสหรัฐฯ เท่านั้น หน้าที่ความรับผิดชอบ 1. ต้องปฏิบัติตนภายใต้กรอบของกฎหมายสหรัฐฯ ทั้งกฎหมายระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น 2. มีหน้าที่ที่จะต้องยื่นใบคืนภาษีรายได้ (Income Tax Returns) และรายงานรายได้ต่อสรรพกรประจำรัฐและประจำประเทศ (US Internal Revenue Service and State IRS) 3. จะต้องสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย และไม่กระทำการใด ๆ เพื่อล้มล้างรัฐบาลด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย 4. หากเป็นเพศชาย อายุ 18-25 ปี จะต้องเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการทหาร |
การที่จะได้มาซึ่งกรีนการ์ดนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่
1. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางสายสัมพันธ์ทางครอบครัว (Immigration through a Family Member) เรียงตามลำดับความสำคัญได้ตามนี้
- สามีภรรยา
- ผู้เยาว์ซึ่งยังไม่ได้สมรสอายุต่ำกว่า 21 ปี เช่น ลูก หลาน พี่ น้อง ลูกติดสามี ภรรยา
- บุตรที่ยังไม่ได้สมรสอายุเกิน 21 ปี
- บุตรที่สมรสแล้วไม่จำกัดอายุ
- พ่อ แม่ และพี่หรือน้องในกรณีที่สปอนเซอร์อายุตั้งแต่ 21 ปี
2. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางการจ้างงาน (Immigration through Employment)
3. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านการลงทุน (Immigration through Investment)
4. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางโครงการเสี่ยงโชคกรีนการ์ด (Immigration through the Diversity Lottery) โดยใช้วิธีสุ่มจับหมายเลขผู้สมัครกรีนการ์ดลอตโตรี่จากทั่วโลก ผู้ที่ได้รับกรีนการ์ดประเภทนี้ยังสามารถพาคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่ได้สมรสอายุต่ำกว่า 21 ปี มาอยู่ด้วยได้
หลังจากที่รู้จักกรีนการ์ดมาพอสมควรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนดำเนินการ
1. เริ่มจากการแต่งงาน จดทะเบียนสมรส และขอใบทะเบียนสมรส (Marriage Certificate) แต่ละรัฐจะใช้เวลาในการขอใบทะเบียนสมรสแตกต่างกันออกไป อย่างน้อยประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากที่ทำเรื่องจดทะเบียนสมรสแล้ว
2. ไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองด้านสุขภาพ (Report of medical examination and vaccination record) ขั้นตอนนี้จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ปอด ทำ TB Skin Test และฉีดวัคซีน โดยสามารถเช็ครายชื่อคลินิค หรือโรงพยาบาลที่สามารถทำใบรับรองสุขภาพได้ ที่นี่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 200-400 USD ใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน แพทย์จะกรอกรายงานสุขภาพลงในแบบฟอร์ม I-693 จากนั้นจะเอาแบบฟอร์มให้เรา 2 ชุด ตัวจริง 1 ชุดใส่ซอง ปิดผนึก ห้ามเปิด เราใช้ตัวนี้ในการยื่นเรื่องกรีนการ์ด ส่วนอีกอันเป็นสำเนาให้เราเปิดดูรายละเอียดได้
3. กรอกแบบฟอร์ม สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มทั้งหมดได้ที่ www.uscis.gov
4. เตรียมเอกสารหลักฐานของทั้งสองฝ่าย
5. ส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมเช็คทางไปรษณีย์
6. สามารถเช็คสถานะการดำเนินเรื่องทางเว็บไซต์ www.uscis.gov หรือใช้บริการการส่งความเคลื่อนไหวผ่านข้อความทางมือถือได้
7. หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนจะได้รับจดหมายให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูป เป็นรูปใช้ติดในกรีนการด์ ดังนั้นควรแต่งหน้าและทำผมให้ดูดี เป็นพิเศษ
8. หลังจากวันที่พิมพ์ลายนิ้วมือผ่านไปประมาณ 1-3 เดือน ก็จะได้รับจดหมายให้ไปสัมภาษณ์ ขั้นตอนนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เตรียมตอบคำถามให้ดี เตรียมหลักฐานให้แน่นหนา จะผ่านไม่ผ่านก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้เป็นสำคัญ โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ทำใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวลเกินไป
- ตรวจสอบสถานที่สัมภาษณ์ว่าตั้งอยู่ที่ไหน สามารถเดินทางได้อย่างไร และใช้เวลาในการเดินทางเท่าไหร่ หากจะให้ดีก่อนวันสัมภาษณ์ควรซ้อมเดินทางจากบ้านไปที่สถานที่สัมภาษณ์ ทั้งนี้เพื่อจะได้แน่ใจว่าสถานที่ตั้งอยู่ตรงไหน และเราสามารถเดินทางไปถูก ไม่หลงทาง
- แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ
- มาถึงก่อนนัดหมายประมาณ 15-30 นาที
- เตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบทั้งตัวจริง และสำเนา และจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่
- อย่าลืมรูปถ่ายของทั้งสองฝ่ายที่เคยเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่งงาน และฮันนีมูน หรือรูปถ่ายครอบครัวที่บอกเล่าเรื่องราว แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ควรจัดรูปใส่อัลบั้ม (เรียงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน) พร้อมบรรยายใต้ภาพด้วยข้อความสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษ
- ตอบคำถามให้ชัดเจน ตรงประเด็น โปร่งใส จริงใจ สามารถดูตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์ได้ ที่นี่
- หากไม่เข้าใจคำถาม ขอให้เจ้าหน้าที่ถามอีกรอบ หรืออธิบายคำถาม อย่าตอบแบบส่งๆ หรือขอไปที
- ในวันที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็จะบอกผลเลยว่าผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านควรถามเหตุผลที่ทำให้เรื่องไม่ผ่าน และวิธีปฏิบัติต่อไป
9. หากเรื่่องผ่าน ภายใน 1-3 สัปดาห์ ก็จะได้รับกรีนการ์ด
หลักฐานเอกสารที่ต้องเตรียม
เอกสารที่ต้องเตรียมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ เอกสารของเรา, เอกสารของคู่สมรส เอกสารที่ต้องยื่นร่วมกัน และเช็ค
1. เอกสารของเรา
- สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก และหน้าที่มีวีซ่าอเมริกา
- สำเนา I-94 แบบฟอร์มเข้าประเทศอเมริกา เอกสารนี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเอามาให้เรากรอก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะประทับตราวันที่เราเข้าประเทศ และวันที่เราต้องเดินทางออกจากประเทศอเมริกา
- รูปถ่าย ขนาด Passport Size พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่น จำนวน 2 รูป เขียนชื่อ นามสกุล ติดหลังรูปให้เรียบร้อย สามารถถ่ายรูปได้ที่ Walgreens
- ใบเกิด (Birth Certificate) ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อย และได้รับการรับรองจากกรมการกงศุล กระทรวงต่างประเทศ หรือ Public Notary ที่ใกล้บ้านเรา
- ใบทะเบียนสมรส (Marriage Certificate)
- แบบฟอร์ม G-325A – biographic information อันนี้เป็นแบบฟอร์มข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราว่าเป็นใคร เกิดที่ไหน อาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานอะไรมาก่อน แต่งงานวันไหน คู่สมรสชื่ออะไร
- แบบฟอร์ม I-693 - report of medical examination and vaccination record แบบฟอร์มการตรวจร่างกาย และประวัติการฉีดวัคซีน ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์
- แบบฟอร์ม I-485 application to register permanent residence or adjust status แบบฟอร์มการสมัครขอกรีนการ์ด
- แบบฟอร์ม I-765 application for employment authorization แบบฟอร์มขออนุญาตทำงาน อันนี้มีหรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน ตามกฏหมายของอเมริกัน หากยังไม่ได้รับกรีนการด์ ห้ามทำงาน หากอยากทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมายในระหว่างช่วงที่รอกรีนการ์ดก็ควรกรอกแบบฟอร์มนี้เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตทำงาน
- แบบฟอร์ม I-131 application for travel document แบบฟอร์มขออนุญาตออกนอกประเทศ ในระหว่างช่วงที่รอกรีนการ์ดนั้น ไม่ควรเดินทางออกนอกประเทศ หากมีความจำเป็นต้องออกนอกประเทศ ควรกรอกแบบฟอร์มนี้ไปด้วย
2. เอกสารของคู่สมรส
- สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก
- รูปถ่าย ขนาด Passport Size พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่น จำนวน 2 รูป เขียนชื่อ นามสกุล ติดหลังรูปให้เรียบร้อย
- สำเนาใบเกิด (Birth Certificate) ของคู่สมรส
- สำเนา Tax return and W-2s เอกสารการใบขอคืนภาษีย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี
- สำเนาสลิปเงินเดือน 3 เดือนล่าสุด
- จดหมายรับรองการทำงาน ระบุตำแหน่งงาน ระยะเวลาที่ทำงาน เงินเดือน โบนัส พร้อมตราประทับของบริษัท
- แบบฟอร์ม G-325A – biographic information เหมือนกับของเรา แต่เป็นข้อมูลขอผู้สมรส
- แบบฟอร์ม I-130 petition for alien relative แบบฟอร์มสปอนเซอร์ โดยคนที่จะเป็นสปอนเซอร์ให้เราได้นั้นจะต้องเป็นพลเมืองอเมริกันหรือผู้อาศัยถาวร ที่มีรายได้หลังหักภาษีตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด
- แบบฟอร์ม I-864 affidavit of support แบบฟอร์มข้อมูลรายได้ และการเสียภาษีของคู่สมรส
3. เอกสารที่ต้องยื่นร่วมกัน
- อัลบัมรูปถ่าย
- บัญชีธนาคารที่เปิดร่วมกัน (Join Bank Account )
- ประกันสุขภาพ (Health Insurance ) และประกันชีวิต (Life Insurance) ที่มีชื่อของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
หมายเหตุ: ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามอย่าง แต่ควรมีสองอย่างขึ้นไป
4. เช็ค แบ่งเป็นสองใบด้วยกัน ได้แก่ ใบแรกสั่งจ่าย จำนวน 1,070 เหรียญ สำหรับแบบฟอร์ม I-485 เช็คอีกใบสั่งจ่าย จำนวน 420 เหรียญ สำหรับแบบฟอร์ม I-130 สั่งจ่ายในนาม Department of Homeland Security. จ่ายให้ตรงจำนวน หากขาดหรือเกิน ทางเจ้าหน้าที่จะไม่รับเรื่อง (ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช็คค่าใช้จ่ายอีกครั้งก่อนยื่นเรื่องที่ www.uscis.gov) และสามารถดูตัวอย่างการเขียนเช็คเพื่อสั่งจ่ายได้ ที่นี่

U.S. Citizenship and Immigration Services
PO Box 805887
Chicago, IL 60680-4120
หากมีข้อสงสัยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.usvisa4thai.com หรือ www.uscis.gov
หมายเหตุ: ระยะเวลาในการยื่นเรื่องของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐที่อาศัยอยู่ หากรัฐนั้นมีคนยื่นเรื่องเยอะ คิวยาว ก็จะต้องรอนานหน่อย โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลา 3-7 เดือน
อยากสอบถามงานด้านเครื่องมือเเพทย์ (เครื่องมือตา) สามารถขอวีซ่ามาทำงานได้หรือป่าวครับทาง อเมริกา ขาดเเคลนบุคลากรด้านนี้หรือป่าวครับผมมีประการณ์ที่เมืองไทย 8 ปี มีใบ certificate service training หลายใบจากหลายประเทศร่วมถึง usa ด้วยครับตอนนี้ยังทำงานด้านนี้อยู่ที่เมืองไทยมี วีซ่า b1 b2 10ปีจากบริษัท ส่งมา training พูดภาษาอังกฤษได้ดี เคยอยุ่ นิวซีแลนด์ 10 ปี รบกวนเวลาให้ความรู้ด้วยนะครับ email afta.siwakorn.service@gmail.com
ตอบลบ