วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563

ปักกิ่ง Beijing วันเดียวก็เที่ยวได้



วันนี้ร้านอาหารที่ฉันทำงานอยู่คนไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่ ฉันเลยมีเวลาได้หายใจหายคอ มองไปรอบๆ ฉันมองไปที่โต๊ะ 21 โต๊ะหัวมุมร้าน เห็นป้าคนจีนอายุประมาณ 60 กว่าๆ กำลังนั่งดูเมนูอาหารภาษาอังกฤษอย่างงกๆ เงิ่นๆ เห็นแล้วฉันก็นึกถึงตัวเองตอนไปเที่ยวจีนไม่มีผิด

ฉันชอบเที่ยวคนเดียว ไม่ชอบมีไกด์ เวลาไปเที่ยวประเทศที่เขาไม่พูดภาษาอังกฤษกัน ฉันเลยไปไหนไม่ค่อยถูก ฉันนึกถึงตัวเองแล้วก็อดขำไม่ได้ ท่าทางฉันตอนไปเที่ยวปักกิ่ง Beijing เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วก็ดูสับสน งงๆ ไม่ต่างจากป้าเท่าไหร่ ด้วยความที่ปักกิ่งไม่ค่อยมีป้ายภาษาอังกฤษ ผู้คนก็ไม่ค่อยพูดอังกฤษกันเท่าไหร่ เลยทำให้การท่องเที่ยวของฉันเป็นไปอย่างลำบาก

จากแอตแลนต้า Atlanta บินไปปักกิ่ง ใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมง ฉันเดินทางด้วยสายการบิน Air China เพราะราคาถูกกว่าสายการบินอื่นๆ ก็อย่างว่านะ บริการที่ได้รับก็ตามราคา เครื่องบินค่อนข้างเก่า เก้าอี้ก็จะเล็กกว่าสายการบินที่ฉันเคยนั่ง อาหารบนเครื่องฉันแทบไม่แตะเลย เพราะมันดูมัน และจืดชืดมาก สิ่งเดียวที่ทำให้ฉันมีความบันเทิงเริงใจ ก็เห็นจะเป็นหนังบนเครื่องนี้แหละ หนังเอเชียพวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หนังรักโรแมนติกแบบที่ฉันชอบมีให้เลือกเยอะมาก ฉันนั่งดูจนลืมวันลืมคืน ลืมความเจ็บปวดจากการนั่งบนเก้าอี้แข็งๆ แคบๆ ไปเลย 


ฉันกับลูกเดินทางถึงสนามบินปักกิ่งตอนเช้ามืด สนามบินใหญ่น่าดู มีอาคารโดยสารถึง 3 อาคาร เวลาจะไปไหนแต่ละที ต้องนั่งรถไฟในสนามบินไป เจ้าหน้าที่ในสนามบินพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ทำให้ฉันเสียเวลาอยู่นานกว่าจะงมหาที่ทำวีซ่าชั่วคราวได้ ด้วยความที่ฉันกับลูกถือพาสปอร์ตอเมริกัน เวลาจะเข้าจีนต้องทำวีซ่าก่อน แต่ฉันมาแวะเที่ยวแค่วันเดียวเอง เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนในอเมริกาเขาเลยแนะนำว่า ไม่ต้องเสียเงินทำวีซ่าแบบจริงจังหรอก ใช้แค่วีซ่าชั่วคราวที่สนามบินได้เลย

ขั้นตอนการขอวีซ่าไม่ยุ่งยากเลย เจ้าหน้าที่แค่ถามคำถามว่ามาจากไหน จะไปเที่ยวไหนบ้าง และจะกลับวันไหนเท่านั้นเอง แล้วก็เช็คตั๋วเครื่องบินไปกลับของฉันกับลูก เป็นอันจบพิธี



เวลาไปเที่ยวต่างประเทศหรือในประเทศก็ตาม ฉันจะไม่ค่อยใช้บริการ Taxi ด้วยความที่แพงอย่างหนึ่งละ อีกอย่างคือ เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร กลัวเขาพาไปวน ไปทำอะไรไม่ดี ฉันเลยเลือกการเดินทางแบบขนส่งมวลชนมากกว่า ครั้งนี้ฉันเลือกนั่งรถโดยสารประจำทาง เพราะเส้นทางที่รถวิ่งผ่านจะเป็นทางที่คนไปเรียน ไปทำงาน ทำให้ลูกได้เห็นวิถีชีวิตของคนที่นี่จริงๆ

ตอนที่ฉันไปถึงสถานีรถประจำทางในสนามบิน ฉันแทบจะตะลึง ไม่มีป้ายภาษาอังกฤษเลยคะ ฉันยืนดูแผนที่อยู่นานก็ดูไม่ออก เลยไปขอความช่วยเหลือจากคนขับรถและคนขายตั๋ว ทั้งคู่ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ฉันพยายามเปิดเว็บไชต์แปลภาษา ก็ใช้ไม่ได้อีก ที่จีนเขาจะจำกัดการใช้อินเตอร์เน็ต อย่างพวก Facebook เนี่ยเข้าไม่ได้เลย เว็บไชต์บางเว็บก็เข้าไม่ได้ ใจคอฉันเริ่มไม่ดีละ ไม่รู้ทำไงดี ฉันนิ่งไปอยู่นาน อยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ฉันเคยเก็บรูปถ่ายจัตุรัสเทียนอันเหมิน Tienanmen Square ไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพราะอยากให้ลูกศึกษาที่เที่ยวก่อนออกเดินทาง ฉันเลยยื่นให้ลุงคนขับรถดู เขาก็ชี้สายรถที่ฉันต้องนั่ง พาไปซื้อตั๋ว และพาไปนั่งรถพร้อมบอกคนขับว่าฉันจะไปไหน ถึงจะพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ฉันก็สัมผัสได้ว่าคนที่นี่ใจดีไม่น้อย

ตัวรถประจำทางข้างนอกยังดูดีอยู่เลย ข้างในสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบ รถที่ฉันนั่งเป็นรถสาย 7 เดินทางจาก Airport West Railway Station รถออกทุกๆ 30 นาที สำหรับคนที่อยากเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนของปักกิ่ง ฉันแนะนำให้เข้าไปศึกษาข้อมูลในเว็บไชต์นี้ก่อน www.travelchinaguide.com ให้ข้อมูลการเดินทางไว้อย่างละเอียดเลยละ ทั้งการเดินทางด้วยรถบัส รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถทัวร์

การท่องเที่ยวครั้งนี้ฉันมีเวลาแค่วันเดียวเอง เพราะฉันแค่มารอต่อเครื่องไปไทย ฉันเลยคัดแค่สถานที่เด็ดๆ เท่านั้น ญาติผู้ใหญ่ของฉันหลายคนพอรู้ว่าฉันแวะเที่ยวแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็คัดค้านใหญ่ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน รอให้พร้อมก่อนแล้วค่อยไป ให้มีเวลาสักอาทิตย์ มีเงินให้เที่ยวแบบสบายๆ อย่าเอาลูกออกไปตะลอนเลย มันร้อน มันอันตราย

แต่ก่อนฉันเป็นแบบนั้นนะ เป็นพวก perfectionism ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อม เป็นไปตามขั้นตอนที่คิด ที่วางแผนไว้ก่อนถึงจะทำ ถ้าฉันรู้ว่าทำแบบไม่พร้อม แล้วผลออกมาไม่ดี ฉันก็จะยังไม่ทำ แต่ฉันพบว่าเวลาเป็นแบบนี้ มันทำให้ฉันพลาดอะไรหลายอย่างไป บางทีเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำเมื่อไหร่จะพร้อม แล้วก็ไม่ได้ทำสักที ครั้งนี้ฉันเลยตั้งใจเมื่อมีโอกาสมาถึงแล้ว ฉันจะก็ลงมือทำเลย ทำไปตามความพร้อมและงบประมาณที่ฉันมีอยู่ ไม่ต้องเที่ยวแบบหรูหราอะไรมาก แค่ได้พาลูกไปเปิดหูเปิดตา สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยเห็น ไม่เคยได้เรียนรู้ ได้ชิมอาหารจีนแบบต้นตำรับ แค่นี้ก็พอแล้วนะ  

การจราจรที่ปักกิ่งไม่ต่างกรุงเทพเลย มีทางด่วน ถนนใหญ่ๆ เส้นทางไฮเวย์เยอะมาก ตอนเช้าช่วง 8 โมง รถติดเป็นชั่วโมง จนลูกลิงของฉันเผลอหลับไป พอไม่ต้องดูลูก ฉันก็มีเวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบๆ ฉันมองไปนอกหน้าต่าง ตึกที่นี่เก่าพอสมควร มีทั้งตึกแบบทันสมัย และตึกแบบจีนโบราณผสมผสานกันไป เมืองค่อนข้างแออัด ก็แน่สินะ เขาเป็นเมืองหลวงของจีนและเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก มีจำนวนคนที่อาศัยอยู่ประมาณ 20,693,000 คน

ผู้คนในรถโดยสารก็ดูเป็นมิตร ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส พูดกับฉันไม่รู้เรื่อง แต่ก็พยายามมีบทสนทนา ถามว่าฉันจะไปไหน พยายามจะหาอะไรมาให้ลูกฉันหนุนหัวตอนนอน กล้วลูกฉันคอเคล็ด ดูไปก็เหมือนคนแก่แถวบ้านนอกที่ฉันอยู่เลย ถึงแม้จะไม่ใช่ลูกหลานเขา เขาก็ดูแลเอาใส่ใจเหมือนลูกเหมือนหลานเขาเลย 


ฉันนั่งรถอยู่ประมาณชั่วโมง ก็ถึงที่หมาย ตรงป้าย Qianmen Street คนในรถช่วยกันบอกว่าให้ลงป้ายนี้เลย เริ่มต้นทริปก็ประทับใจละ ฉันกับลูกเดินออกจากรถประจำทางด้วยรอยยิ้ม เดินเข้าไปตามซอยเล็กๆ เพื่อหาอาหารเช้าทาน พอเราเห็นร้านแรกที่ขายติ่มซำก็รีบตรงเข้าไปเลย ไม่ได้เช็คราคา หรือมองร้านรอบๆ ก่อน


ก็เช่นเคยคะ ในร้านไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย ป้ายภาษาอังกฤษก็ไม่มี รูปก็ไม่มีให้ชี้ ฉันเลยเอาแบบง่ายๆ คนข้างๆ เขาสั่งอะไรก็ตามนั้นคะ ก็ได้ซาลาเปากับโจ๊กร้อนๆ มา รสชาติก็ไม่จัดจ้านเลย จืดมาก ฉันว่าอาหารจีนที่เยาวราชยังอร่อยกว่าต้นตำหรับอีกอะ


อิ่มท้องแล้ว สองคนแม่ลูกก็ออกไปถ่ายรูปเล่น สองข้างทางมีรูปปั้นคนจีนสมัยโบราณเต็มไปหมด เราเดินไปเรื่อยๆ ก็เจอร้านติ่มซำอีกหลายร้านเลย ราคาถูกกว่า มีอาหารให้เลือกเยอะกว่า คนขายก็เป็นมิตรและพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย ฉันแอบเสียใจเบาๆ แต่ก็ช่างเถอะ เดี๋ยวค่อยแวะกลับมากินละกัน

ที่ปักกิ่ง สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นด้านประวัติศาสตร์ มีวัดดังๆ เยอะมาก เช่น Temple of Heaven หอสักการะฟ้าเทียนถาน ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 14 ปี เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีเซ่นไหว้ฟ้าฝน จักรพรรดิของจีนจะต้องเสด็จทุกปีเพื่อกราบไหว้ขอบคุณสวรรค์ที่ช่วยบันดาลความสมบูรณ์พูนสุขแห่งพืชผลมาตลอดปี อีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ วัดลามะ หรือ ยงเหอกง ที่พำนักขององค์ชายสี่ในสมัยราชวงศ์ ชิง ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง พระราชวังที่นี่ก็สวยมาก อย่างพระราชวังฤดูร้อน (Summer Palace) ในเขต Haidian ห่างจากกรุงปักกิ่งไป 15 กิโลเมตร มีสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และได้รับคัดเลือกจากองการ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกในปี 1998

ช่วงฤดูร้อนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนจากต่างเมือง เป็นนักเรียนมาทัศนศึกษา ฉันแทบไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติยุโรปหรืออเมริกาเท่าไหร่


อากาศช่วงเดือนกรกฏาคมร้อนพอสมควร ฉันกับลูกกินไอติมหมดไปหลายแท่ง ร้านขายของรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินเหมือนร้านขายชำบ้านเราเลย มีขนมแปลกๆ ไอติมอร่อยๆ ให้เลือกเยอะ


ที่นี่กว่าจะข้ามถนนได้ ลำบากพอสมควร จะข้ามแบบมั่วๆ ไม่ได้ ตามสองข้างทางจะมีแผงเหล็กกั้นไว้ไม่ให้คนข้ามถนน แต่จะต้องลอดอุโมงค์ใต้ดินข้ามไป อุโมงค์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีทุกมุมถนนนะคะ มีแค่ไม่กี่อัน จะข้ามทีต้องเดินรอบจัตุรัสคะ เพื่อหาอุโมงค์ข้ามถนน เวลาลงไม่เท่าไหร่ แต่เวลาขึ้นอุโมงค์นี้สิคะ บันไดเยอะยิ่งกว่าเดินขึ้นดอยสุเทพ ขานี้ล้ามากคะ เรียกได้ว่ากว่าจะไปถึงที่เที่ยว หมดแรงกันไปเลย

ตำรวจที่นี่ยืนอยู่แทบทุกจุด จนลูกฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า เขามีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรจึงมีตำรวจออกมายืนมากมายขนาดนี้ บ้านเราเวลาตำรวจออกมาทำงานแบบนี้เราจะรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย แต่กลับกันในอเมริกา เวลาบ้านเมืองเรียบร้อย ตำรวจแทบจะไม่มีให้เห็น แต่พอมีประท้วง มีการจราจรที ร้านรวงต่างๆ จะปิดหมด ผู้คนจะอยู่ที่บ้าน ตำรวจจะออกมายืนเรียงราย เต็มถนนไปหมด

ฉันดีใจนะที่เวลามาเที่ยวแล้วลูกรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม หาคำตอบในสิ่งที่สงสัย นั่นหมายถึงว่าลูกฉันได้เรียนรู้อะไรเพิ่มมากขึ้นแล้ว ได้รู้อะไรที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียน ได้ศึกษาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงๆ




เราเดินฝ่าแดดร้อนมาสักพักก็ถึง จัตุรัสเทียนอันเหมิน จัตุรัสที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก (เคยเป็นจัตุรัสที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนกระทั่งปี 1976) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 440,000 ตารางเมตร สามารถจุประชากรได้ถึง 1,000,000 คน ถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่จัดพิธีฉลองเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ ของประเทศจีน



จัตุรัสเทียนอันเหมิน สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1417 ในสมัยราชวงศ์หมิงมีชื่อเดิมว่า "เฉิงเทียนเหมิน" ต่อมาในรัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิซุ่นจื้อแห่งราชวงศ์ชิง ทรงโปรดฯให้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1651 และยังทรงโปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนอันเหมิน" คำว่า ‘เทียน’ แปลว่า ฟ้า ‘อัน’ แปลว่า ผาสุก ‘เหมิน’ แปลว่า ประตู


จัตุรัสนี้ล้อมรอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่
หอประตูเทียนอันเหมินที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจัตุรัส ธงแดงดาว 5 ดวงผืนใหญ่โบกสะบัดอยู่เหนือเสาธงกลางจัตุรัส อนุสาวรีย์วีรชนใจกลางจัตุรัส มหาศาลาประชาคมด้านทิศตะวันตกของจัตุรัส ตลอดจนพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติจีนทางฝั่งตะวันออก นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ยังมีหอรำลึกประธานเหมา และหอประตูเจิ้งหยางเหมิน




สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศจีนที่ปรากฏตามสื่อทั่วไปก็คือ พลับพลาสีแดงที่มีรูปภาพขนาดใหญ่ของท่านประธานเหมาเจ๋อตุงประดับอยู่ นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเยี่ยมชมพระราชวังต้องห้ามจะต้องเดินข้ามสะพานหินหยกขาวเข้าไป (ประตูตรงกลางห้ามเข้าให้เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น) บนฝาผนังสองข้างของซุ้มประตูมีคำขวัญเขียนว่า “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจงเจริญ” และ “ความสามัคคีประชาชนทั่วโลกจงเจริญ” ประดับไว้ด้วย



ลูกฉันก็ไม่น้อยหน้าใคร ขอให้ฉันถ่ายรูปให้ใหญ่จะเอาไปอวดเพื่อนที่โรงเรียนตอนเปิดเทอม เราเดินเที่ยวอยู่พักใหญ่ ก็หิวอีกแล้ว เลยเดินข้ามถนนไปกินบะหมี่แถวนั้น บะหมี่สีเหลืองกับผักกวางตุ้ง รสชาติใช้ได้เลยละ หรือฉันหิวไม่รู้ กินหมดชามเลย ฉันไม่อยากกินอะไรมากหรอก เพราะเก็บท้องไว้กินเป็ดปักกิ่ง อยากจะชิมจากต้นตำรับ

ที่นี่เวลาร้อนๆ ไม่รู้จะไปหลบแดดที่ไหน ฉันกับลูกก็อาศัยอุโมงค์ใต้ดินนี้แหละนั่งพักกัน อุโมงค์เป็นทางเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน พอลูกนั่งเล่นหุ่นยนต์ ฉันก็เลยมีเวลาไปศึกษาเส้นทางรถไฟใต้ดิน ซึ่งเข้าใจง่ายกว่ารถโดยสารประจำทางเยอะ มีภาษาอังกฤษกำกับด้วย หากใครที่จะเดินทางมาเที่ยวจัตุรัสเทียนอันเหมิน ขอแนะนำเลยคะ รถไฟใต้ดิน Line 1 สถานี Tiananmen East ทางออก  A หรือ Tiananmen West ทางออก B จะเจอซุ้มประตูเทียนอันเหมิน อยู่ติดกับพระราชวังต้องห้าม ซึ่งเป็นฝั่งเหนือของจัตุรัส หรือ Line 2 สถานี Qianmen ทางออก A จะเจอประตูเฉียนเหมินซึ่งเป็นฝั่งใต้ของจัตุรัสเทียนอันเหมิน



ก่อนเดินไปหาร้านเป็ดปักกิ่งอีกฝั่งหนึ่งของเมือง เราเดินผ่าน
ประตูเฉียนเหมิน (Qianmen Gate) ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจัตุรัสเทียนอันเหมิน มีอายุกว่า 500 ปีสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงในสมัยโบราณใช้เป็นประตูหลักของขบวนพระจักรพรรดิเวลาเสด็จเข้าหรือออกจากพระราชวังต้องห้าม ด้านบนเป็นหอคอยสูง 27.3 เมตรรวมกับฐานซุ้มประตูสูงถึง 42 เมตร ซึ่งถือเป็นซุ้มประตูที่สูงที่สุดในปักกิ่ง


สองคนแม่ลูกเดินไปตามถนนใกล้ๆ จัตุรัส มีหลายร้านเหลือเกินที่ขายเป็ดปักกิ่ง เหมือนถนนเยาวราชบ้านเรา ที่ขายของเหมือนๆ กัน ฉันไม่รู้จะเลือกร้านไหน เลยถามๆ คนแถวนั้นดู เขาก็ชี้มาร้านด้านหลังที่ฉันยืนอยู่ เดินก็ไม่ไกล ร้านก็ดูน่าเชื่อถือ เราเลยเดินเข้าไปในร้าน เจ้าของร้านยืนต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ช่วงนั้นเป็นช่วงบ่ายๆ คนไม่เยอะเท่าไหร่ พนักงานต้อนรับพาฉันกับลูกไปนั่งโต๊ะ พร้อมกับหาน้ำชามาให้ดื่ม ฉันแปลกใจที่พนักงานเสิร์ฟที่นี่พูดภาษาอังกฤษได้ดี สงสัยคงต้อนรับนักเที่ยวชาวต่างชาติเยอะ นางเอาใจลูกฉันมาก ช่วยชาร์จ ipad และโทรศัพท์ หาน้ำหวานมาให้เจ้าตัวเล็ก นางพูดเก่ง ชวนคุยไม่หยุด บอกของดีในร้าน เชียร์ให้ฉันสั่งโน่นนี่ นางบอกว่าเป็ดปักกิ่งต้องกินชุดใหญ่ไปเลย แต่ฉันมากับลูกสองคนเอง กินไม่หมด ฉันเลยขอแบบครึ่งตัว นางใจดีแถมซุปเป็ดปักกิ่งมาให้ด้วย พ่อครัวที่นี่มาตัดเป็ดโชว์ฉันถึงที่โต๊ะ พร้อมเสิร์ฟกับแผ่นแป้ง และแตงกวา 



ฉันกินไปคำแรก อร่อยมาก เป็ดรสชาติกลมกล่อม ไม่ต้องใช้น้ำจิ้มอะไรเลย ลูกฉันห่อเอง หยิบเข้าปากคำใหญ่ จริงๆ ลูกฉันเป็นคนกินยากนะ ไม่ค่อยลองอะไรใหม่ๆ แต่ฉันตั้งกฏกับลูกว่า เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ต้องลองกินอาหารพื้นเมืองของเขา ลองกินอะไรที่บ้านเราไม่มีขาย จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม่แม่ถึงทำงานหนัก เก็บเงินให้ลูกได้เที่ยวต่างประเทศปีละครั้งสองครั้ง เพราะแม่อยากพาลูกมาสัมผัสอะไรที่ลูกไม่เคยได้ลองในอเมริกา ลูกก็ยอมแต่โดยดี ชิมไปคำแรก วิจารณ์ไม่หยุด ได้เลือดพ่อมาเต็มๆ วิจารณ์ตัวแป้ง ตัวเป็ด ยันรสชาติของน้ำจิ้ม




ทริปนี้ถึงจะเป็นทริปสั้นๆ แต่ฉันก็สนุกมาก ฉันดีใจที่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกอย่างเต็มที่ ได้พาลูกมาเปิดหูเปิดตา และเรียนรู้โลกไปพร้อมๆ กับลูก




แม่เคยบอกฉันว่า เวลามีลูกไปไหนลำบาก เที่ยวจะไม่สนุก มันก็จริงที่ว่าการเที่ยวมันอาจจะไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อนตอนเป็นโสด ที่จะไปไหนก็ได้ จะผจญภัยบุกลุยแค่ไหนก็ได้ แต่พอมีลูก มันก็เหมือนเป็นการฝึก ที่จะทำอะไรต้องวางแผน ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องหาที่เที่ยวที่ปลอดภัย เที่ยวได้ทั้งแม่ลูก อาจไม่ผาดโผนเหมือนแต่ก่อน แต่ก็สนุกไปอีกแบบ ทริปนี้เป็นการพิสูจน์ว่า การมีลูกไม่ใช่อุปสรรคในการเที่ยว และการมีเวลาจำกัด ก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกในการเที่ยวลดน้อยลงไปเลย



ทริปนี้ฉันได้ก้าวข้ามอะไรหลายอย่าง ฉันได้เรียนรู้ว่าเวลาแค่หนึ่งวัน เราก็เที่ยวได้ หากใจเราอยากจะเที่ยว เราจะจัดสรรเวลา หาสถานที่เที่ยวที่เหมาะสมเองแหละ  แต่ละวันเวลาผ่านไปเร็วมาก เวลาเราอยากจะทำอะไรก็ให้รีบทำ เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะได้ทำหรือเปล่า เราไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อม เพราะเราไม่รู้หรอกว่าเมื่อไหร่เราจะพร้อม เมื่อโอกาสมาถึง ก็ให้คว้าไว้เลย อย่าสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง ว่าต้องรอให้มีเงินเท่านี้ มีเวลาเท่านี้ถึงจะเที่ยวได้ แต่ให้พยายามหาทางออกให้ตัวเอง เที่ยวตามข้อจำกัดที่ต้วเองมีอยู่ ให้ลองคิดว่ามีเวลาเท่านี้ มีเงินเท่านี้จะไปเที่ยวไหนได้บ้างจะดีกว่า

ลองพาตัวเองก้าวออกมาจาก comfort zone ออกไปเถอะ เชื่อว่าพอออกไปแล้ว หลายคนจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ที่เปลี่ยนให้เราเป็นอีกคนที่ต่างจากเมื่อวานแน่นอน





วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563

เมียฝรั่งต่างแดน ชีวิตที่ไม่ได้ง่ายแบบที่ใครๆ คิด




เชื่อแน่ว่ายังมีคนไทยหลายคนที่คิดว่า การย้ายมาอยู่เมืองนอกจะทำให้ชีวิตสุขสบาย การแต่งงานกับฝรั่งจะช่วยยกฐานะทางสังคม และทำให้ร่ำรวยมีเงินทองใช้ไม่ขาดสาย



ไม่น่าแปลกใจหรอกว่าทำไมคนไทยหลายคนถึงคิดเช่นนั้น เพราะในสมัยก่อนที่เทคโนโลยี การคมนาคมขนส่งยังไม่พัฒนามาก ยุคที่ค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าเงินเดือนทั้งปีของคนไทยบางคน ฝรั่งที่จะสามารถเดินทางมาไทยได้จะเป็นพวกผู้ดี นักธุรกิจ คนมีเงินเท่านั้น เราเลยเหมารวมไปหมดว่า ฝรั่งทุกคนเป็นคนรวย และพอสาวไทยแต่งงานกับฝรั่ง ก็มีเงินส่งมาให้ทางบ้าน ซื้อรถ สร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำไปอีกว่า เมืองนอกเป็นเหมือนสวรรค์ การแต่งงานกับฝรั่งเป็นเรื่องที่ดูโก้หรู เพราะช่วยยกฐานะทางสังคม นั่นเป็นแค่สิ่งที่เราเห็น แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า เงินที่สาวไทยส่งมาที่บ้าน เขาได้มายังไง เราเห็นแต่ผลลัพธ์ แต่ไม่รู้ถึงหนทางที่เขาได้มาเลย หลายคนคิดว่าเงินนั้นมาจากฝรั่งที่ปรนเปรอให้สาวไทย เลยพาลให้บางคนเข้าใจเหมารวมว่าสาวไทยแต่งงานกับฝรั่งเพราะหวังรวย



หากลองมาใช้ชีวิตที่ต่างประเทศจริงๆ แล้วจะพบว่ายังมีหลายเรื่องที่คนไทยเข้าใจผิด การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศไม่ได้ง่ายและสุขสบายอย่างที่ใครๆ เข้าใจ และเงินที่สาวยไทยส่งกลับบ้าน บางครั้งก็ไม่ได้มาจากสามีฝรั่งเสมอไป



หากจะบอกว่า สาวไทยแต่งงานกับฝรั่งเพราะรักสบาย อันนี้เป็นความคิดที่ผิดมากๆ หากอยากจะสบายเป็นคุณนายอยู่ที่บ้าน แต่งงานกับนักธุรกิจคนไทย หรือคนเอเชียยังจะสบาย มีสิทธิ์ได้เป็นคุณนายชี้นิ้วสั่งอยู่ที่บ้านมากกว่า เพราะสังคมไทยยังยอมรับและชื่นชอบให้ผู้หญิงอยู่ที่บ้าน เป็นแม่บ้าน คอยดูแลเรื่องเสื้อผ้า อาหารการกิน แต่สังคมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา มองเรื่องบทบาทหน้าที่ของภรรยาต่างจากสังคมเอเชีย แม่บ้านในฝั่งอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครได้อยู่บ้าน ทำแต่งานบ้าน แต่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน แบ่งเบาภาระของสามี สังคมตะวันตกเชื่อว่า ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย สามารถทำงานนอกบ้าน และหาเงินได้พอๆ กับผู้ชาย ส่วนเรื่องงานบ้าน ก็ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นเรื่องที่คนสองคนต้องช่วยกันทำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นผู้ชายฝรั่ง ซักผ้า รีดผ้า ล้างจาน เลี้ยงลูกในวันหยุด ด้วยความเชื่อนี้จริงทำให้ผู้หญิงไทยที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถเป็นคุณนายอยู่บ้านได้เฉยๆ  แทบทุกคนจะต้องทำงาน บางครั้งเป็นงานที่ตัวเองไม่เคยทำที่ไทยด้วยซ้ำ แต่เนื่องด้วยความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่ยังไม่ดีมาก งานอะไรก็ต้องทำไปก่อน ดีกว่าอยู่บ้านแบมือขอเงินสามี  คอยฟังคำดูถูกจากญาติสามีว่ามาเกาะลูกเขากิน เพราะชาติตะวันตกส่วนใหญ่เคารพคนที่ความสามารถ ชอบคนที่ขยันทำงาน ตั้งใจทำมาหากิน สาวไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างแดนเลยต้องทำทุกวิถีทางที่จะมีงานทำ มีเงินเข้าบ้าน บางคนทำงานสองงานสามางาน ตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาด  โรงแรม เลี้ยงเด็ก งานร้านอาหาร เพื่อหาเงินเรียนเพิ่มเติมด้านภาษา หาเงินเรียนต่อเพื่อจะได้มีอาชีพที่ดีขึ้น และเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ลบคำนินทาว่าร้ายจากคนรอบข้างว่าแต่งงานกับฝรั่งเพื่อหวังรวย มาเกาะสามีกินแบบที่ใครๆ เขาคิดกัน



ที่ต้องทำงานหนักหาเงินเรียนเองก็เพราะฝรั่งส่วนใหญ่ ไม่ได้เติบมาในสังคมอุปถัมภ์ ที่ทุกคนเกื้อหนุน ช่วยเหลือกัน เขาไม่มีค่านิยมส่งเงินให้ใครเรียนเหมือนไทย ที่พี่ทำงานหนักส่งน้องเรียน ส่งหลานเรียนจนจบ พอหลานเรียนจบมีงานทำงานแล้วส่งเงินมาให้ที่บ้านเพื่อตอบแทนบุญคุณ



เด็กฝรั่งเติบโตมาแบบพึ่งพาตัวเองสูง ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ หรือยากจน พออายุ 18 ปี ก็ต้องออกจากบ้าน หาที่อยู่เอง หางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียน ตื่นแต่หกโมงเช้า เรียนยันเย็น ตกดึกทำงานต่อถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก พอแต่งงานกับสาวไทยเขาก็จะมีแนวคิดว่า ภรรยาต้องทำได้แบบเดียวกับที่เขาเคยทำมา หากภรรยาอยากเรียน อยากมีความรู้ เพื่อหางานที่ดีๆ ทำ ก็ต้องทำงานเก็บเงินเรียนเอง บางครอบครัวที่พอมีฐานะ ก็จะออกเงินให้ภรรรยาก่อน พอภรรยาได้งานทำ มีเงินมากพอ ค่อยมาผ่อนจ่ายค่าเรียนทีหลัง การอยู่ที่ต่างประเทศไม่ได้มีอะไรได้มาแบบง่ายๆ ฟรีๆ ต้องใช้ความสามารถฝีมือ และหยาดเหงื่อแรงงานแลกมาทั้งนั้น การให้อะไรใครแบบฟรีๆ ที่นี่บางครั้งเหมือนจะเป็นการดูถูกคนนั้นด้วยซ้ำว่าเขาไม่มีความสามารถ



หลายคนอาจมองว่าก็แน่สิ การแต่งงานกับฝรั่งที่ไม่ได้รวย หรือคนที่ฐานะปานกลาง ชีวิตก็ต้องลำบาก หาเช้ากินค่ำ ทำงานปากกัดตีนถีบเป็นธรรมดา แต่ใช่ว่าการแต่งงานกับคนรวย นักธุรกิจ คนมีฐานะชีวิตจะสุขสบาย



คนรวยที่นี่ไม่ได้มีนิสัยให้อะไรให้ใครพร่ำเพรื่อ ต่างจากนักธุรกิจที่ไทย คนรวยแถบเอเชียที่มักจะซื้อรถ ซื้อบ้านให้ภรรยา พาภรรยาซื้อของเที่ยวต่างประเทศในวันหยุดเป็นว่าเล่น ของต่างประเทศนะเหรอ จะซื้อให้เฉพาะวันสำคัญ วันครบรอบแต่งงาน คริสต์มาส ปีใหม่เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ถ้าอยากได้ต้องหาเอาเอง แล้วที่จะมาหวังเกาะเขารวย มากอบโกยทรัพย์สมบัติก็ไม่มีทางหรอก ฝรั่งที่มีธุรกิจส่วนใหญ่ เขาจะให้เซ็นสัญญาก่อนแต่งงาน ที่เรียกว่า Prenuptial Agreement เพื่อแบ่งทรัพย์สินส่วนตัวกับสินสมรสอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายเข้ามาก้าวก่ายในธุรกิจของตนได้



คนที่นี่ไม่ค่อยเหมือนคนไทย ที่พ่อรวย แล้วลูกรวยด้วย มีการสืบทอดมรดกเป็นทอดๆ ที่อเมริกา พ่อรวยก็คือพ่อรวย ลูกไม่ได้รวยตามพ่อ ไม่มีการสืบทอดมรดก หากลูกอยากจะรวย ต้องออกไปทำงาน สร้างฐานะเอง หากอยากสืบทอดกิจการของพ่อ ต้องพิสูจน์ความสามารถให้พ่อเห็นก่อน บางคนต้องไปเป็นลูกน้อง พนักงานธรรมดาที่บริษัทพ่อตัวเองอยู่สี่ห้าปี ค่อยไต่เต้าไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เป็นผู้บริหาร ดังนั้นการสืบทอดความรวย จากรุ่นสู่รุ่น จากสามีสู่ภรรยาจึงไม่มีในความคิดของฝรั่ง



คนที่นี่แบ่งแยกทุกอย่างชัดเจน ไม่ชอบใช้บัญชีเงินเดียวกันแบบที่ไทย ที่พอแต่งงานก็รวมทรัพย์สิน หนี้สินของทั้งสองฝ่ายด้วยกัน เงินสามีก็เหมือนเงินของภรรยา ที่นี่เวลาแต่งงานกัน แยกบัญชีธนาคารชัดเจน ค่าใช้จ่ายในบ้าน ทุกอย่างมักจะหารสอง สามีและภรรยาออกค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน บางบ้านสามีอาจออกมากกว่า เพราะทำงานได้เงินมากกว่า แต่ภรรยาก็ต้องช่วยเหลือบางส่วน



สังคมที่นี่จะมีการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวสูง ไม่ใช่แค่บัญชีเงินที่แบ่งแยก การกินข้าวด้วยกัน อาหารบนโต๊ะ ยังไม่มีการกินร่วมกันเหมือนที่ไทยเลยที่กับจานหนึ่งกินได้ห้าคน คนที่นี่จะแยกจานของใครของมัน หากอยากกินอาหารในจานของสามีต้องขออนุญาตก่อน หรืออย่างโทรศัพท์ก็เช่นกัน บางบ้านโทรศัพท์ของสามี ภรรยาห้ามจับต้อง จะใช้ต้องขอแบบเป็นทางการก่อน อยู่ๆ จะมาหยิบโทรศัพท์ไปเช็คเหมือนที่ไทยใช่ว่าจะทำได้



พอมาอยู่สังคมตัวใครตัวมันแบบนี้ เวลาอยากได้อะไร ก็ต้องพึ่งพอตัวเองเป็นหลัก การเป็นภรรยานักธุรกิจที่นี่จึงไม่ได้ง่าย ความกดดันก็สูงกว่าการแต่งงานกับฝรั่งธรรมดาทั่วไป เพราะต้องพิสูจน์ให้ครอบครัวสามี คนรอบข้างเห็นได้ว่ามีความสามารถ มีคุณค่า คู่ควรกับสามี หลายคนต้องไปเรียนปรับบุคลิกภาพ เรียนการเข้าสังคม เรียนภาษาเป็นปีๆ  และเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อมีหน้าที่การงานดีๆ หรือมีความสามารถทำงานช่วยเหลือกิจการของสามีได้ ไม่มีใครที่จะมานั่งถือกระเป๋าแพงๆ เป็นคุณนายอยู่ที่บ้าน เหมือนในหนังที่เราชอบดูกัน



แม่บ้านที่นี่จะอยู่บ้านได้ก็เฉพาะช่วงที่คลอดลูกใหม่ๆ เท่านั้น เพราะค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กที่นี่แพง แพงพอๆ กับเงินเดือนที่เราได้ สามีเลยให้ภรรยาออกมาเลี้ยงลูกเอง คุณภาพชีวิตลูกก็จะดีกว่า ได้อยู่กับแม่เต็มที่ แต่ก็อย่างมากสุด 5 ปีเท่านั้น พอลูกเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล เข้าเรียนฟรี แม่ๆ ทั้งหลายก็ต้องกลับไปทำงานตามเดิม 



เราชอบคิดกันเอาเองว่า สาวไทยแทนที่จะเรียนต่อเพื่อยกระดับฐานะทางสังคม กลับเลือกแต่งงานกับฝรั่ง เพราะขี้เกียจเรียน หวังสบายทางลัด แต่พอเรามามองจริงๆ แล้วจะเห็นว่า คนที่มาอยู่เมืองนอกได้นั้นต้องขยัน และเก่งจริงๆ ถึงจะอยู่รอด อย่างน้อยๆ ต้องเรียนเพิ่มเติมด้านภาษาอังกฤษแล้ว ไม่งั้นก็สื่อสารกับใครเขาไม่เข้าใจ ทำงานก็ไม่ได้ และส่วนใหญ่อย่างที่บอก ทุกคนที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศเรียนต่อมหาวิทยาลัยแทบทุกคน เพราะอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากมีเงินส่งให้ที่บ้าน ซื้อรถใหม่ให้แม่ สร้างบ้านใหม่ให้พ่ออยู่



บ้านใหม่ รถใหม่ที่เราเห็น เงินที่ส่งกลับบ้าน ส่วนใหญ่เป็นของสาวไทยเราทั้งนั้น ไม่มีหรอกที่สามีจะให้ เพราะฝรั่งไม่มีค่านิยมส่งเงินให้พ่อแม่ พ่อแม่ที่นี่ดูแลตัวเอง มีเงินจากรัฐบาลใช้ในยามชรา บางครอบครัวทะเลาะกันบ้านแตกด้วยซ้ำที่สาวไทยต้องคอยส่งเงินให้พ่อแม่ใช้อยู่ตลอด บางครอบครัวดีหน่อย อนุญาตให้ส่งเงินได้แต่ต้องทำงานเพิ่ม ห้ามเอาเงินในครอบครัวส่งไป สาวไทยก็เลยต้องเหนื่อย ทำงานล่วงเวลา บางคนทำสามสี่งานเพิ่มให้มีรายได้พอจะใช้ในครอบครัว และเหลือส่งให้พ่อแม่ โดยที่ไม่ต้องทะเลาะกับสามี



คนไทยเราเป็นคนที่มีความกตัญญูสูง ชอบทำให้พ่อแม่ภูมิใจ มีความสุข มักจะแบกความหวังของคนทั้งบ้านไว้ ทำให้ตัวเองมีความกดดันสูง เวลามีเรื่องทุกข์ก็มักจะเก็บไว้เอง ไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังหรอก เพราะกลัวคนทางบ้านเป็นห่วง กลัวพ่อแม่ผิดหวัง พอไม่เล่าความทุกข์ คนที่บ้านก็เลยเข้าใจว่าชีวิตสุขสบาย สามีเลี้ยง มีเงินเหลือส่งให้พ่อแม่ตลอด คนที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ก็จะมีแต่พวกเพื่อนแม่บ้านไทยในต่างแดนด้วยกันนี้แหละ



ดังนั้นคำพูดที่กล่าวว่า สาวไทยขี้เกียจ ไม่รักเรียน เลือกแต่งงานมากว่าเรียนเพื่อหวังสบาย จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ยิ่งสมัยปัจจุบัน หากมองดีๆ เราจะเห็นว่าสาวไทยมีการศึกษาดีๆ แทบทุกคน สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ มีฐานะมั่นคง ไม่ได้เป็นตัวเลือกของฝรั่งอีกต่อไป แต่มีสิทธิ์ที่จะเลือกด้วยซ้ำว่าฝรั่งคนไหนที่จะมาเป็นคู่ชีวิต ไม่ใช่ฝรั่งแก่รุ่นพ่อ หรือฝรั่งขี้นกไม่เอาถ่าน ไม่ได้เป็นฝรั่งที่ไหนก็ได้แบบแต่ก่อน ที่ขอแค่ให้ได้แต่งงานเพียงแค่อยากย้ายมาอยู่เมืองนอก เพราะสมัยก่อน สาวไทยไม่ได้มีการศึกษามากเท่าไร นั่นไม่ใช่เพราะว่าขี้เกียจ ไม่อยากเรียน แต่เพราะครอบครัวยากจน พ่อแม่ก็จะเลือกส่งลูกชายไปเรียนมากกว่า ลูกสาวยังไงก็ต้องออกเรือน แต่งงานไปมีสามีอยู่แล้ว ก็ไปพึ่งสามีเอา สิ่งที่ลูกสาวต้องเรียนก็จะเป็นพวกวิชาแม่บ้าน แม่เรือน การทำอาหาร เอาใจสามีเท่านั้น



เมื่อไม่มีการศึกษา ฐานะในสังคมของผู้หญิงไทยจึงไม่เท่ากับผู้ชาย เวลาจะทำอะไรก็ต้องคอยพึ่งพาสามีตลอดเวลา ผู้ชายไทยบางคนก็พึ่งได้ แต่บางคนก็ไม่ได้สนใจดูแลภรรยาเท่าที่ควร บางคนไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย บางคนก็เมาอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่งให้ภรรยาและลูกไม่ได้ ผู้หญิงไทยบางคนที่ผิดหวังกับชายไทยก็หันไปพึ่งพาผู้ชายต่างชาติแทน การแต่งงานในสมัยก่อนเลยเป็นการแต่งงานเพื่อหาที่พึ่ง หาคนช่วยยกระดับความอยู่ให้ดีขึ้น ให้พ้นจากความทุกข์ ความจน



แต่ในปัจจุบันสาวไทยบางคนเก่งถึงขั้นที่ว่าสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำงานในบริษัทชั้นนำของต่างชาติ มีเงินเดือนมากกว่าสามีฝรั่งหลายเท่า บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น แปลภาษา ท่องเที่ยว สปา ร้านอาหารไทย บางคนต้องให้สามีฝรั่งลาออกงานมาเป็นพ่อบ้าน ดูแลลูก เพราะงานที่สามีทำอยู่ไม่ได้ทำเงินมาก แถมยังต้องเสียเงินค่าพี่เลี้ยงเด็กอีก ให้ออกมาอยู่บ้านยังจะมีประโยชน์ซะกว่า เรื่องแบบนี้ไม่มาอยู่ต่างประเทศก็จะไม่มีวันรู้ เพราะส่วนใหญ่ที่ไทยถูกครอบงำด้วยมายาคติเดิมๆ ที่ว่าฝรั่งรวย แล้วสาวไทยเราไม่เก่ง ต้องพึ่งพาเขาตลอดเวลา



จริงอยู่ไม่ใช่สาวไทยทุกคนที่เก่ง แต่พอมาอยู่ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สภาพสังคมจะเป็นตัวกดดันให้สาวไทยต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องอดทนถึงจะอยู่รอดได้ อะไรที่ไม่เคยทำที่ไทย พออยู่เมืองนอกต้องทำเองทุกอย่าง



สิ่งที่ต้องทนอย่างแรกๆ ก็จะเป็นสภาพอากาศ ที่บางเมืองหนาวจับใจแทบทั้งปี มีหิมะตกตลอด บางครั้งกองหิมะสูงขึ้นมาถึงเอว ไปไหนแทบจะไม่ได้ ป่วยแล้วป่วยอีก เพราะมาจากเมืองไทยที่ร้อนมาก ไม่เคยชินกับสภาพอากาศหนาว หรือบางเมือง อากาศไม่ได้หนาว แต่จะมีปัญหาเรื่อง ละอองเกสรในฤดูใบไม้ผลิ หลายคนเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องกินยาหาหมอกันเป็นว่าเล่น



ทนกับความหนาวยังไม่พอ ต้องทนกับความเหงา ความไกลบ้าน มาแรกๆ หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า โรคคิดถึงบ้าน เพราะไม่มีเพื่อน ออกไปไหนก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง พูดกับใครเขาก็ไม่รู้เรื่อง บางคนโดนล้อเรื่องภาษา โดนดูถูกอยู่ตลอด เวลาทำงานใหม่ๆ ก็ไม่มีใครยอมรับ ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่นๆ หลายเท่ากว่าจะได้รับเข้าทำงาน หรือเป็นที่ยอมรับของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน หากจิตใจไม่แกร่งจริง ก็อยู่ที่ต่างประเทศไม่รอด



เรื่องอาหารการกินก็ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนที่ไทย พอกลับบ้านไป มีแม่ทำอาหารเรียงตั้งโต๊ะไว้ให้ หรืออยากกินอาหารอร่อยๆ ก็เดินห้านาทีถึงตลาด แม่บ้านไทยในต่างแดน แค่อยากกินข้าวผัดอร่อยๆ กระเพราไก่สักจานยังยากเลย ร้านอาหารไทยที่มีอยู่ ราคาอาหารก็แพงแสนแพง จะกินทุกวันก็ไม่ได้ ตลาดขายของจากไทยบางเมืองแทบไม่มีด้วยซ้ำ ต้องขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อจะซื้อของในเมืองใหญ่ๆ บางอย่างที่หายากๆ อย่างพวกมะม่วง มะเขือพวง พืชผักสมุนไพรต่างๆ จากไทย ก็ต้องรอเป็นเดือนกว่าจะนำเข้าจากไทยมาขาย ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ใช่ว่าจะไปกันง่ายๆ ต้องรอสามีว่างจากงานเพื่อขับรถมาส่ง มีเงินซื้อของ บางครั้งก็ทำไม่เป็น ทำไม่อร่อยอีก ต้องฝึกกันอยู่นั่นแหละ 3-4 เดือนกว่าจะได้กินอาหารที่ถูกใจ หลายคนทำอาหารเก่งก็ตอนย้ายมาอยู่ต่างประเทศนี้แหละ



สังคมตะวันตกเป็นสังคมตัวใคร ตัวมัน ไม่ค่อยพึ่งพาอาศัยกันเหมือนที่ไทย ขนาดพ่อแม่สามียังไม่ค่อยมีใครขอความช่วยเหลือกันง่ายๆ ต่างจากไทยที่พ่อแม่จะมาช่วยทำอาหาร ช่วยเลี้ยงลูกให้ ที่นี่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่อยู่ต่างเมือง ต่างรัฐ นานๆ ทีมาเจอกัน มาช่วยเลี้ยงหลานแค่ช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ คริสต์มาส หรือช่วงหลานปิดเทอมใหญ่เท่านั้น นอกนั้นพ่อแม่ต้องรับบทหนัก ผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงลูกเอง



หรืออย่างจะย้ายบ้านที ที่ไทยจะเกณฑ์พ่อแม่ญาติพี่น้องทุกคนในตระกูลมาช่วยกัน ย้ายไม่ถึงวันเสร็จ แต่ที่นี่เวลาจะขอความช่วยเหลือจากใครลำบากเหลือเกิน จะขอให้ใครมาช่วยก็กลัวเขาเสียเวลาทำงานให้ครอบครัว  เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทอง รายได้คิดกันเป็นชั่วโมง ไม่เหมือนที่ไทยที่ได้เงินเดือน ลางานวันหนึ่งก็ยังได้เงินเท่าเดิม ที่อเมริกาลางานมาวันหนึ่งก็เสียไปแล้ว 200$ ก็เลยต้องจ้างคนช่วยย้าย หรือบางบ้านประหยัด สาวไทยก็ต้องช่วยสามี ฝึกขับรถใหญ่ๆ ย้ายบ้านเอง หรืออย่างงานช่างทั้งหลาย สาวไทยก็ต้องฝึกทำเอง แทบทุกคนสามารถทาสี ซ่อมแซมบ้าน ตัดหญ้าเอง เพราะจ้างทีก็หมดเงินเยอะ สู้ทำเองดีกว่า



การแต่งงานกับฝรั่งไม่ได้ทำให้รวย หรือสบายขึ้นหรอก เพราะสาวไทยเราก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แต่จะกล่าวได้ว่า การย้ายมาอยู่ต่างประเทศทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจะดีกว่า เพราะในต่างประเทศบ้านเมืองเป็นระบบระเบียบ มีกฏหมายที่เคร่งครัด และนโยบายต่างๆ เอื้อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นศึกษาฟรีจนถึงม.ปลาย นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยคนตกงาน กฏหมายแรงงานที่เป็นธรรม นโยบายช่วยเหลือลูกจ้าง ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบทางแรงงาน พอเราอยู่ในสังคมที่กฏหมายมีความยุติธรรม ทำให้เราตัวเองรู้สึกปลอดภัยและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น



ที่เขียนมาทั้งหมดก็หวังว่าจะช่วยให้หลายๆ คนได้มุมมองใหม่ๆ กับสาวไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ และไปใช้ชีวิตในต่างแดน เมืองนอกไม่ใช่สวรรค์แบบที่ใครๆ คิด ฝรั่งไม่ได้รวยทุกคน ชีวิตเมืองนอกเหนื่อยพอๆ กับที่ไทย หากอยากรวย มีเงินใช้ก็ต้องใช้ความสามารถของตัวเองทั้งนั้น ชีวิตในต่างแดนไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ คนที่จะอยู่ที่นี่ได้ต้องพึ่งพาตัวเองสูง สาวไทยยุคใหม่ในต่างแดน จึงต้องเก่งและแกร่งจริงๆ ถึงจะอยู่รอดได้