วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563

เมียฝรั่งต่างแดน ชีวิตที่ไม่ได้ง่ายแบบที่ใครๆ คิด




เชื่อแน่ว่ายังมีคนไทยหลายคนที่คิดว่า การย้ายมาอยู่เมืองนอกจะทำให้ชีวิตสุขสบาย การแต่งงานกับฝรั่งจะช่วยยกฐานะทางสังคม และทำให้ร่ำรวยมีเงินทองใช้ไม่ขาดสาย



ไม่น่าแปลกใจหรอกว่าทำไมคนไทยหลายคนถึงคิดเช่นนั้น เพราะในสมัยก่อนที่เทคโนโลยี การคมนาคมขนส่งยังไม่พัฒนามาก ยุคที่ค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าเงินเดือนทั้งปีของคนไทยบางคน ฝรั่งที่จะสามารถเดินทางมาไทยได้จะเป็นพวกผู้ดี นักธุรกิจ คนมีเงินเท่านั้น เราเลยเหมารวมไปหมดว่า ฝรั่งทุกคนเป็นคนรวย และพอสาวไทยแต่งงานกับฝรั่ง ก็มีเงินส่งมาให้ทางบ้าน ซื้อรถ สร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำไปอีกว่า เมืองนอกเป็นเหมือนสวรรค์ การแต่งงานกับฝรั่งเป็นเรื่องที่ดูโก้หรู เพราะช่วยยกฐานะทางสังคม นั่นเป็นแค่สิ่งที่เราเห็น แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า เงินที่สาวไทยส่งมาที่บ้าน เขาได้มายังไง เราเห็นแต่ผลลัพธ์ แต่ไม่รู้ถึงหนทางที่เขาได้มาเลย หลายคนคิดว่าเงินนั้นมาจากฝรั่งที่ปรนเปรอให้สาวไทย เลยพาลให้บางคนเข้าใจเหมารวมว่าสาวไทยแต่งงานกับฝรั่งเพราะหวังรวย



หากลองมาใช้ชีวิตที่ต่างประเทศจริงๆ แล้วจะพบว่ายังมีหลายเรื่องที่คนไทยเข้าใจผิด การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศไม่ได้ง่ายและสุขสบายอย่างที่ใครๆ เข้าใจ และเงินที่สาวยไทยส่งกลับบ้าน บางครั้งก็ไม่ได้มาจากสามีฝรั่งเสมอไป



หากจะบอกว่า สาวไทยแต่งงานกับฝรั่งเพราะรักสบาย อันนี้เป็นความคิดที่ผิดมากๆ หากอยากจะสบายเป็นคุณนายอยู่ที่บ้าน แต่งงานกับนักธุรกิจคนไทย หรือคนเอเชียยังจะสบาย มีสิทธิ์ได้เป็นคุณนายชี้นิ้วสั่งอยู่ที่บ้านมากกว่า เพราะสังคมไทยยังยอมรับและชื่นชอบให้ผู้หญิงอยู่ที่บ้าน เป็นแม่บ้าน คอยดูแลเรื่องเสื้อผ้า อาหารการกิน แต่สังคมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา มองเรื่องบทบาทหน้าที่ของภรรยาต่างจากสังคมเอเชีย แม่บ้านในฝั่งอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครได้อยู่บ้าน ทำแต่งานบ้าน แต่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน แบ่งเบาภาระของสามี สังคมตะวันตกเชื่อว่า ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย สามารถทำงานนอกบ้าน และหาเงินได้พอๆ กับผู้ชาย ส่วนเรื่องงานบ้าน ก็ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นเรื่องที่คนสองคนต้องช่วยกันทำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นผู้ชายฝรั่ง ซักผ้า รีดผ้า ล้างจาน เลี้ยงลูกในวันหยุด ด้วยความเชื่อนี้จริงทำให้ผู้หญิงไทยที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถเป็นคุณนายอยู่บ้านได้เฉยๆ  แทบทุกคนจะต้องทำงาน บางครั้งเป็นงานที่ตัวเองไม่เคยทำที่ไทยด้วยซ้ำ แต่เนื่องด้วยความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่ยังไม่ดีมาก งานอะไรก็ต้องทำไปก่อน ดีกว่าอยู่บ้านแบมือขอเงินสามี  คอยฟังคำดูถูกจากญาติสามีว่ามาเกาะลูกเขากิน เพราะชาติตะวันตกส่วนใหญ่เคารพคนที่ความสามารถ ชอบคนที่ขยันทำงาน ตั้งใจทำมาหากิน สาวไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างแดนเลยต้องทำทุกวิถีทางที่จะมีงานทำ มีเงินเข้าบ้าน บางคนทำงานสองงานสามางาน ตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาด  โรงแรม เลี้ยงเด็ก งานร้านอาหาร เพื่อหาเงินเรียนเพิ่มเติมด้านภาษา หาเงินเรียนต่อเพื่อจะได้มีอาชีพที่ดีขึ้น และเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ลบคำนินทาว่าร้ายจากคนรอบข้างว่าแต่งงานกับฝรั่งเพื่อหวังรวย มาเกาะสามีกินแบบที่ใครๆ เขาคิดกัน



ที่ต้องทำงานหนักหาเงินเรียนเองก็เพราะฝรั่งส่วนใหญ่ ไม่ได้เติบมาในสังคมอุปถัมภ์ ที่ทุกคนเกื้อหนุน ช่วยเหลือกัน เขาไม่มีค่านิยมส่งเงินให้ใครเรียนเหมือนไทย ที่พี่ทำงานหนักส่งน้องเรียน ส่งหลานเรียนจนจบ พอหลานเรียนจบมีงานทำงานแล้วส่งเงินมาให้ที่บ้านเพื่อตอบแทนบุญคุณ



เด็กฝรั่งเติบโตมาแบบพึ่งพาตัวเองสูง ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ หรือยากจน พออายุ 18 ปี ก็ต้องออกจากบ้าน หาที่อยู่เอง หางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียน ตื่นแต่หกโมงเช้า เรียนยันเย็น ตกดึกทำงานต่อถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก พอแต่งงานกับสาวไทยเขาก็จะมีแนวคิดว่า ภรรยาต้องทำได้แบบเดียวกับที่เขาเคยทำมา หากภรรยาอยากเรียน อยากมีความรู้ เพื่อหางานที่ดีๆ ทำ ก็ต้องทำงานเก็บเงินเรียนเอง บางครอบครัวที่พอมีฐานะ ก็จะออกเงินให้ภรรรยาก่อน พอภรรยาได้งานทำ มีเงินมากพอ ค่อยมาผ่อนจ่ายค่าเรียนทีหลัง การอยู่ที่ต่างประเทศไม่ได้มีอะไรได้มาแบบง่ายๆ ฟรีๆ ต้องใช้ความสามารถฝีมือ และหยาดเหงื่อแรงงานแลกมาทั้งนั้น การให้อะไรใครแบบฟรีๆ ที่นี่บางครั้งเหมือนจะเป็นการดูถูกคนนั้นด้วยซ้ำว่าเขาไม่มีความสามารถ



หลายคนอาจมองว่าก็แน่สิ การแต่งงานกับฝรั่งที่ไม่ได้รวย หรือคนที่ฐานะปานกลาง ชีวิตก็ต้องลำบาก หาเช้ากินค่ำ ทำงานปากกัดตีนถีบเป็นธรรมดา แต่ใช่ว่าการแต่งงานกับคนรวย นักธุรกิจ คนมีฐานะชีวิตจะสุขสบาย



คนรวยที่นี่ไม่ได้มีนิสัยให้อะไรให้ใครพร่ำเพรื่อ ต่างจากนักธุรกิจที่ไทย คนรวยแถบเอเชียที่มักจะซื้อรถ ซื้อบ้านให้ภรรยา พาภรรยาซื้อของเที่ยวต่างประเทศในวันหยุดเป็นว่าเล่น ของต่างประเทศนะเหรอ จะซื้อให้เฉพาะวันสำคัญ วันครบรอบแต่งงาน คริสต์มาส ปีใหม่เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ถ้าอยากได้ต้องหาเอาเอง แล้วที่จะมาหวังเกาะเขารวย มากอบโกยทรัพย์สมบัติก็ไม่มีทางหรอก ฝรั่งที่มีธุรกิจส่วนใหญ่ เขาจะให้เซ็นสัญญาก่อนแต่งงาน ที่เรียกว่า Prenuptial Agreement เพื่อแบ่งทรัพย์สินส่วนตัวกับสินสมรสอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายเข้ามาก้าวก่ายในธุรกิจของตนได้



คนที่นี่ไม่ค่อยเหมือนคนไทย ที่พ่อรวย แล้วลูกรวยด้วย มีการสืบทอดมรดกเป็นทอดๆ ที่อเมริกา พ่อรวยก็คือพ่อรวย ลูกไม่ได้รวยตามพ่อ ไม่มีการสืบทอดมรดก หากลูกอยากจะรวย ต้องออกไปทำงาน สร้างฐานะเอง หากอยากสืบทอดกิจการของพ่อ ต้องพิสูจน์ความสามารถให้พ่อเห็นก่อน บางคนต้องไปเป็นลูกน้อง พนักงานธรรมดาที่บริษัทพ่อตัวเองอยู่สี่ห้าปี ค่อยไต่เต้าไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เป็นผู้บริหาร ดังนั้นการสืบทอดความรวย จากรุ่นสู่รุ่น จากสามีสู่ภรรยาจึงไม่มีในความคิดของฝรั่ง



คนที่นี่แบ่งแยกทุกอย่างชัดเจน ไม่ชอบใช้บัญชีเงินเดียวกันแบบที่ไทย ที่พอแต่งงานก็รวมทรัพย์สิน หนี้สินของทั้งสองฝ่ายด้วยกัน เงินสามีก็เหมือนเงินของภรรยา ที่นี่เวลาแต่งงานกัน แยกบัญชีธนาคารชัดเจน ค่าใช้จ่ายในบ้าน ทุกอย่างมักจะหารสอง สามีและภรรยาออกค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน บางบ้านสามีอาจออกมากกว่า เพราะทำงานได้เงินมากกว่า แต่ภรรยาก็ต้องช่วยเหลือบางส่วน



สังคมที่นี่จะมีการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวสูง ไม่ใช่แค่บัญชีเงินที่แบ่งแยก การกินข้าวด้วยกัน อาหารบนโต๊ะ ยังไม่มีการกินร่วมกันเหมือนที่ไทยเลยที่กับจานหนึ่งกินได้ห้าคน คนที่นี่จะแยกจานของใครของมัน หากอยากกินอาหารในจานของสามีต้องขออนุญาตก่อน หรืออย่างโทรศัพท์ก็เช่นกัน บางบ้านโทรศัพท์ของสามี ภรรยาห้ามจับต้อง จะใช้ต้องขอแบบเป็นทางการก่อน อยู่ๆ จะมาหยิบโทรศัพท์ไปเช็คเหมือนที่ไทยใช่ว่าจะทำได้



พอมาอยู่สังคมตัวใครตัวมันแบบนี้ เวลาอยากได้อะไร ก็ต้องพึ่งพอตัวเองเป็นหลัก การเป็นภรรยานักธุรกิจที่นี่จึงไม่ได้ง่าย ความกดดันก็สูงกว่าการแต่งงานกับฝรั่งธรรมดาทั่วไป เพราะต้องพิสูจน์ให้ครอบครัวสามี คนรอบข้างเห็นได้ว่ามีความสามารถ มีคุณค่า คู่ควรกับสามี หลายคนต้องไปเรียนปรับบุคลิกภาพ เรียนการเข้าสังคม เรียนภาษาเป็นปีๆ  และเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อมีหน้าที่การงานดีๆ หรือมีความสามารถทำงานช่วยเหลือกิจการของสามีได้ ไม่มีใครที่จะมานั่งถือกระเป๋าแพงๆ เป็นคุณนายอยู่ที่บ้าน เหมือนในหนังที่เราชอบดูกัน



แม่บ้านที่นี่จะอยู่บ้านได้ก็เฉพาะช่วงที่คลอดลูกใหม่ๆ เท่านั้น เพราะค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กที่นี่แพง แพงพอๆ กับเงินเดือนที่เราได้ สามีเลยให้ภรรยาออกมาเลี้ยงลูกเอง คุณภาพชีวิตลูกก็จะดีกว่า ได้อยู่กับแม่เต็มที่ แต่ก็อย่างมากสุด 5 ปีเท่านั้น พอลูกเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล เข้าเรียนฟรี แม่ๆ ทั้งหลายก็ต้องกลับไปทำงานตามเดิม 



เราชอบคิดกันเอาเองว่า สาวไทยแทนที่จะเรียนต่อเพื่อยกระดับฐานะทางสังคม กลับเลือกแต่งงานกับฝรั่ง เพราะขี้เกียจเรียน หวังสบายทางลัด แต่พอเรามามองจริงๆ แล้วจะเห็นว่า คนที่มาอยู่เมืองนอกได้นั้นต้องขยัน และเก่งจริงๆ ถึงจะอยู่รอด อย่างน้อยๆ ต้องเรียนเพิ่มเติมด้านภาษาอังกฤษแล้ว ไม่งั้นก็สื่อสารกับใครเขาไม่เข้าใจ ทำงานก็ไม่ได้ และส่วนใหญ่อย่างที่บอก ทุกคนที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศเรียนต่อมหาวิทยาลัยแทบทุกคน เพราะอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากมีเงินส่งให้ที่บ้าน ซื้อรถใหม่ให้แม่ สร้างบ้านใหม่ให้พ่ออยู่



บ้านใหม่ รถใหม่ที่เราเห็น เงินที่ส่งกลับบ้าน ส่วนใหญ่เป็นของสาวไทยเราทั้งนั้น ไม่มีหรอกที่สามีจะให้ เพราะฝรั่งไม่มีค่านิยมส่งเงินให้พ่อแม่ พ่อแม่ที่นี่ดูแลตัวเอง มีเงินจากรัฐบาลใช้ในยามชรา บางครอบครัวทะเลาะกันบ้านแตกด้วยซ้ำที่สาวไทยต้องคอยส่งเงินให้พ่อแม่ใช้อยู่ตลอด บางครอบครัวดีหน่อย อนุญาตให้ส่งเงินได้แต่ต้องทำงานเพิ่ม ห้ามเอาเงินในครอบครัวส่งไป สาวไทยก็เลยต้องเหนื่อย ทำงานล่วงเวลา บางคนทำสามสี่งานเพิ่มให้มีรายได้พอจะใช้ในครอบครัว และเหลือส่งให้พ่อแม่ โดยที่ไม่ต้องทะเลาะกับสามี



คนไทยเราเป็นคนที่มีความกตัญญูสูง ชอบทำให้พ่อแม่ภูมิใจ มีความสุข มักจะแบกความหวังของคนทั้งบ้านไว้ ทำให้ตัวเองมีความกดดันสูง เวลามีเรื่องทุกข์ก็มักจะเก็บไว้เอง ไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังหรอก เพราะกลัวคนทางบ้านเป็นห่วง กลัวพ่อแม่ผิดหวัง พอไม่เล่าความทุกข์ คนที่บ้านก็เลยเข้าใจว่าชีวิตสุขสบาย สามีเลี้ยง มีเงินเหลือส่งให้พ่อแม่ตลอด คนที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ก็จะมีแต่พวกเพื่อนแม่บ้านไทยในต่างแดนด้วยกันนี้แหละ



ดังนั้นคำพูดที่กล่าวว่า สาวไทยขี้เกียจ ไม่รักเรียน เลือกแต่งงานมากว่าเรียนเพื่อหวังสบาย จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ยิ่งสมัยปัจจุบัน หากมองดีๆ เราจะเห็นว่าสาวไทยมีการศึกษาดีๆ แทบทุกคน สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ มีฐานะมั่นคง ไม่ได้เป็นตัวเลือกของฝรั่งอีกต่อไป แต่มีสิทธิ์ที่จะเลือกด้วยซ้ำว่าฝรั่งคนไหนที่จะมาเป็นคู่ชีวิต ไม่ใช่ฝรั่งแก่รุ่นพ่อ หรือฝรั่งขี้นกไม่เอาถ่าน ไม่ได้เป็นฝรั่งที่ไหนก็ได้แบบแต่ก่อน ที่ขอแค่ให้ได้แต่งงานเพียงแค่อยากย้ายมาอยู่เมืองนอก เพราะสมัยก่อน สาวไทยไม่ได้มีการศึกษามากเท่าไร นั่นไม่ใช่เพราะว่าขี้เกียจ ไม่อยากเรียน แต่เพราะครอบครัวยากจน พ่อแม่ก็จะเลือกส่งลูกชายไปเรียนมากกว่า ลูกสาวยังไงก็ต้องออกเรือน แต่งงานไปมีสามีอยู่แล้ว ก็ไปพึ่งสามีเอา สิ่งที่ลูกสาวต้องเรียนก็จะเป็นพวกวิชาแม่บ้าน แม่เรือน การทำอาหาร เอาใจสามีเท่านั้น



เมื่อไม่มีการศึกษา ฐานะในสังคมของผู้หญิงไทยจึงไม่เท่ากับผู้ชาย เวลาจะทำอะไรก็ต้องคอยพึ่งพาสามีตลอดเวลา ผู้ชายไทยบางคนก็พึ่งได้ แต่บางคนก็ไม่ได้สนใจดูแลภรรยาเท่าที่ควร บางคนไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย บางคนก็เมาอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่งให้ภรรยาและลูกไม่ได้ ผู้หญิงไทยบางคนที่ผิดหวังกับชายไทยก็หันไปพึ่งพาผู้ชายต่างชาติแทน การแต่งงานในสมัยก่อนเลยเป็นการแต่งงานเพื่อหาที่พึ่ง หาคนช่วยยกระดับความอยู่ให้ดีขึ้น ให้พ้นจากความทุกข์ ความจน



แต่ในปัจจุบันสาวไทยบางคนเก่งถึงขั้นที่ว่าสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำงานในบริษัทชั้นนำของต่างชาติ มีเงินเดือนมากกว่าสามีฝรั่งหลายเท่า บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น แปลภาษา ท่องเที่ยว สปา ร้านอาหารไทย บางคนต้องให้สามีฝรั่งลาออกงานมาเป็นพ่อบ้าน ดูแลลูก เพราะงานที่สามีทำอยู่ไม่ได้ทำเงินมาก แถมยังต้องเสียเงินค่าพี่เลี้ยงเด็กอีก ให้ออกมาอยู่บ้านยังจะมีประโยชน์ซะกว่า เรื่องแบบนี้ไม่มาอยู่ต่างประเทศก็จะไม่มีวันรู้ เพราะส่วนใหญ่ที่ไทยถูกครอบงำด้วยมายาคติเดิมๆ ที่ว่าฝรั่งรวย แล้วสาวไทยเราไม่เก่ง ต้องพึ่งพาเขาตลอดเวลา



จริงอยู่ไม่ใช่สาวไทยทุกคนที่เก่ง แต่พอมาอยู่ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สภาพสังคมจะเป็นตัวกดดันให้สาวไทยต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องอดทนถึงจะอยู่รอดได้ อะไรที่ไม่เคยทำที่ไทย พออยู่เมืองนอกต้องทำเองทุกอย่าง



สิ่งที่ต้องทนอย่างแรกๆ ก็จะเป็นสภาพอากาศ ที่บางเมืองหนาวจับใจแทบทั้งปี มีหิมะตกตลอด บางครั้งกองหิมะสูงขึ้นมาถึงเอว ไปไหนแทบจะไม่ได้ ป่วยแล้วป่วยอีก เพราะมาจากเมืองไทยที่ร้อนมาก ไม่เคยชินกับสภาพอากาศหนาว หรือบางเมือง อากาศไม่ได้หนาว แต่จะมีปัญหาเรื่อง ละอองเกสรในฤดูใบไม้ผลิ หลายคนเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องกินยาหาหมอกันเป็นว่าเล่น



ทนกับความหนาวยังไม่พอ ต้องทนกับความเหงา ความไกลบ้าน มาแรกๆ หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า โรคคิดถึงบ้าน เพราะไม่มีเพื่อน ออกไปไหนก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง พูดกับใครเขาก็ไม่รู้เรื่อง บางคนโดนล้อเรื่องภาษา โดนดูถูกอยู่ตลอด เวลาทำงานใหม่ๆ ก็ไม่มีใครยอมรับ ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่นๆ หลายเท่ากว่าจะได้รับเข้าทำงาน หรือเป็นที่ยอมรับของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน หากจิตใจไม่แกร่งจริง ก็อยู่ที่ต่างประเทศไม่รอด



เรื่องอาหารการกินก็ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนที่ไทย พอกลับบ้านไป มีแม่ทำอาหารเรียงตั้งโต๊ะไว้ให้ หรืออยากกินอาหารอร่อยๆ ก็เดินห้านาทีถึงตลาด แม่บ้านไทยในต่างแดน แค่อยากกินข้าวผัดอร่อยๆ กระเพราไก่สักจานยังยากเลย ร้านอาหารไทยที่มีอยู่ ราคาอาหารก็แพงแสนแพง จะกินทุกวันก็ไม่ได้ ตลาดขายของจากไทยบางเมืองแทบไม่มีด้วยซ้ำ ต้องขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อจะซื้อของในเมืองใหญ่ๆ บางอย่างที่หายากๆ อย่างพวกมะม่วง มะเขือพวง พืชผักสมุนไพรต่างๆ จากไทย ก็ต้องรอเป็นเดือนกว่าจะนำเข้าจากไทยมาขาย ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ใช่ว่าจะไปกันง่ายๆ ต้องรอสามีว่างจากงานเพื่อขับรถมาส่ง มีเงินซื้อของ บางครั้งก็ทำไม่เป็น ทำไม่อร่อยอีก ต้องฝึกกันอยู่นั่นแหละ 3-4 เดือนกว่าจะได้กินอาหารที่ถูกใจ หลายคนทำอาหารเก่งก็ตอนย้ายมาอยู่ต่างประเทศนี้แหละ



สังคมตะวันตกเป็นสังคมตัวใคร ตัวมัน ไม่ค่อยพึ่งพาอาศัยกันเหมือนที่ไทย ขนาดพ่อแม่สามียังไม่ค่อยมีใครขอความช่วยเหลือกันง่ายๆ ต่างจากไทยที่พ่อแม่จะมาช่วยทำอาหาร ช่วยเลี้ยงลูกให้ ที่นี่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่อยู่ต่างเมือง ต่างรัฐ นานๆ ทีมาเจอกัน มาช่วยเลี้ยงหลานแค่ช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ คริสต์มาส หรือช่วงหลานปิดเทอมใหญ่เท่านั้น นอกนั้นพ่อแม่ต้องรับบทหนัก ผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงลูกเอง



หรืออย่างจะย้ายบ้านที ที่ไทยจะเกณฑ์พ่อแม่ญาติพี่น้องทุกคนในตระกูลมาช่วยกัน ย้ายไม่ถึงวันเสร็จ แต่ที่นี่เวลาจะขอความช่วยเหลือจากใครลำบากเหลือเกิน จะขอให้ใครมาช่วยก็กลัวเขาเสียเวลาทำงานให้ครอบครัว  เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทอง รายได้คิดกันเป็นชั่วโมง ไม่เหมือนที่ไทยที่ได้เงินเดือน ลางานวันหนึ่งก็ยังได้เงินเท่าเดิม ที่อเมริกาลางานมาวันหนึ่งก็เสียไปแล้ว 200$ ก็เลยต้องจ้างคนช่วยย้าย หรือบางบ้านประหยัด สาวไทยก็ต้องช่วยสามี ฝึกขับรถใหญ่ๆ ย้ายบ้านเอง หรืออย่างงานช่างทั้งหลาย สาวไทยก็ต้องฝึกทำเอง แทบทุกคนสามารถทาสี ซ่อมแซมบ้าน ตัดหญ้าเอง เพราะจ้างทีก็หมดเงินเยอะ สู้ทำเองดีกว่า



การแต่งงานกับฝรั่งไม่ได้ทำให้รวย หรือสบายขึ้นหรอก เพราะสาวไทยเราก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แต่จะกล่าวได้ว่า การย้ายมาอยู่ต่างประเทศทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจะดีกว่า เพราะในต่างประเทศบ้านเมืองเป็นระบบระเบียบ มีกฏหมายที่เคร่งครัด และนโยบายต่างๆ เอื้อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นศึกษาฟรีจนถึงม.ปลาย นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยคนตกงาน กฏหมายแรงงานที่เป็นธรรม นโยบายช่วยเหลือลูกจ้าง ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบทางแรงงาน พอเราอยู่ในสังคมที่กฏหมายมีความยุติธรรม ทำให้เราตัวเองรู้สึกปลอดภัยและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น



ที่เขียนมาทั้งหมดก็หวังว่าจะช่วยให้หลายๆ คนได้มุมมองใหม่ๆ กับสาวไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ และไปใช้ชีวิตในต่างแดน เมืองนอกไม่ใช่สวรรค์แบบที่ใครๆ คิด ฝรั่งไม่ได้รวยทุกคน ชีวิตเมืองนอกเหนื่อยพอๆ กับที่ไทย หากอยากรวย มีเงินใช้ก็ต้องใช้ความสามารถของตัวเองทั้งนั้น ชีวิตในต่างแดนไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ คนที่จะอยู่ที่นี่ได้ต้องพึ่งพาตัวเองสูง สาวไทยยุคใหม่ในต่างแดน จึงต้องเก่งและแกร่งจริงๆ ถึงจะอยู่รอดได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น