วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขอวีซ่า J1 ไปอเมริกา

บทความที่แล้วได้พูดถึงเรื่อง วีซ่าท่องเที่ยวอเมริกา (B1/B2) บทความนี้เราจะมาพูดถึงวีซ่าอเมริกาอีกประเภทหนึ่งที่เด็กไทยนิยมใช้ในโครงการ Work and Travel, Au pair และ Disney Summer Work Experience นั่นก็คือ วีซ่า J1 เป็นวีซ่าสำหรับนักเรียน หรือนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทยและต้องการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งในเรื่องวัฒนธรรมหรือวิชาการ โดยผู้ขอจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้สูงสุด 2 ปี อีกทั้งได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่จำกัดชั่วโมงการทำงาน และไม่จำกัดจำนวนงานอีกด้วย 

ขั้นการขอวีซ่านั้นเหมือนกับการขอวีซ่าท่องเที่ยว แต่จะแตกต่างกันที่เอกสารที่ใช้ยื่น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีอายุการเดินทางไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หากมีเล่มเก่า ให้นำเล่มเก่ามาแสดงด้วยในวันยื่นเอกสารขอวีซ่า (รายละเอียดการทำ Passport)
2. รูปถ่าย ขนาด 2X2 นิ้ว พื้นหลังสีขาว ไม่สวมหมวก หน้าตรง ไม่สวมแว่นกันแดด ที่สำคัญต้องเห็นใบหูทั้งสองข้างอย่างชัดเจน ไม่ใส่ต่างหู แต่งกายสุภาพ เรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ ใช้รูปถ่าย 2 รูป และแสกนเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ 1 รูป ไฟล์ jpg เพื่อใช้ตอนกรอกแบบฟอร์ม DS-160 
3. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน 
4. ใบรับรองสถานภาพนักศึกษา พร้อม Transcript (ภาษาอังกฤษ) ออกโดยมหาวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่ พร้อมตราประทับ
5. ใบรับรองความประพฤติ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
6. ใบรับรองทางการแพทย์ สามารถขอได้ที่โรงพยาบาล หรือคลินิค โดยใช้แบบฟอร์มที่โรงพยาบาลหรือคลินิคใช้อยู่
7. ประกันภัยการเดินทาง ที่ถูกกฏหมายของประเทศอเมริกา ครอบคลุมระยะเวลาในการเดินทาง และเลือกการประกันที่ครอบคลุมการดูแลทั้งเรื่องกระเป๋าเดินทาง อุบัติเหตุ สุขภาพ มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท
8. เอกสาร DS-2019 ที่เจ้าของโครงการจากประเทศอเมริกาส่งมาให้
9. จดหมายแนะนำตัว อันนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นภูมิหลังของเราว่าเป็นใคร มาจากที่ไหน ทำงานอะไร เคยไปต่างประเทศที่ไหนมาบ้าง และจะไปทำอะไรที่อเมริกา (ตัวอย่างการเขียนจดหมายเพื่อใช้ในการขอวีซ่า)
10. บัญชีธนาคาร (ของผู้ปกครอง) ต้องมีเงินหมุนเวียนตลอด และมีเงินเพียงพอในการกิน อยู่ ใช้จ่าย ท่องเที่ยวในอเมริกา ให้ธนาคารออก Bank Statement และ Bank guarantee ระบุจำนวนเงินเป็น USD 
11. เอกสารรับรองการทำงานของผู้ปกครอง (ภาษาอังกฤษ) ระบุตำแหน่งงาน เงินเดือน ระยะเวลาที่ทำงาน หากมีกิจการเป็นของตัวเอง สามารถใช้เอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษ 
12. เอกสารอื่นๆ เช่น ใบสมรส ใบเปลี่ยนชื่อ โฉนดที่ดิน สัญญาจดจำนอง ภาระผ่อนต่างๆ เอกสารที่แสดงภาระผูกพันกับประเทศไทย เป็นต้น

เมื่อเตรียมเอกสารต่างๆ ครบแล้ว ก็มาถึงขั้นตอน "กรอกแบบฟอร์มและนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์วีซ่า" โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. เข้าไปที่เว็บ www.ustraveldocs.com/th และสร้างบัญชีผู้ใช้ เลือกประเภทของวีซ่าและค่าธรรมเนียมตามวีซ่าประเภทนั้นๆ ซึ่งจะได้แบบฟอร์มใบฝากเงินธนาคารที่มีรายละเอียดตามที่กรอก ให้พิมพ์แบบฟอร์มใบฝากเงินธนาคารนั้นออกมา   

2. นำใบฝากเงินธนาคารที่ได้มาไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา ณ สาขาตามที่กำหนดไว้เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมสมัครวีซ่า 

3. การกรอกแบบฟอร์มขอวีซ่าประเภทชั่วคราว DS-160 เป็นแบบฟอร์ม Online ที่ต้องกรอกทาง Internet เท่านั้น เข้าไป ที่นี่ ดูคำแนะนำวิธีการกรอกแบบฟอร์มได้ ที่นี่ และดูรายละเอียดแบบฟอร์มที่แปลเป็นภาษาไทยได้ ที่นี่

4. เมื่อกรอกครบถ้วน เรียบร้อยแล้ว ให้ Print หน้า Confirmation DS-160  พร้อมหน้าที่กรอกทั้งหมดออกมาใส่แฟ้มรวมกับเอกสารข้างต้น 

5. กำหนดนัดหมายวันสัมภาษณ์ทางอินเทอร์เน็ตที่ www.ustraveldocs.com/th หรือทางโทรศัพท์ผ่านศูนย์บริการที่ 02-105-4110 


6. ชำระค่า SEVIS FEE ราคา 200 $ SEVIS FEE: คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการข้อมูลนักเรียนและบุคลากรต่างชาติ ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากนักเรียนต่างชาติ ผู้ยื่นคำขอวีซ่าประเภท F, M, หรือ J โดยทั่วๆ ไป หลังจากที่นักเรียนได้รับ I-20 หรือ DS-2019 ที่สถานศึกษาออกให้แล้ว นักเรียนต้องจ่าย SEVIS Fee ให้ US Department of Home Land Security ก่อนที่จะไปดำเนินเรื่องขอวีซ่า ณ สถานทูต สามารถจ่ายได้ทางไปรษณีย์หรือทางอินเทอร์เน็ต https://www.fmjfee.com/index.jhtml หากจ่ายทางไปรษณีย์ ให้ใช้แบบฟอร์มของ Homeland โดยส่งไปพร้อมภาพถ่ายเอกสาร I-20 หรือ DS-2019 ทั้งนี้ ให้เก็บหลักฐานการจ่ายเงินด้วย ในกรณีที่จ่ายทางอินเทอร์เน็ต ให้พิมพ์ใบเสร็จรับเงินค่า SEVIS Fee เก็บไว้อย่างน้อย 3 ชุด ชุดแรกให้กับสถานกงทูตเมื่อไปยื่นเรื่องขอวีซ่า ชุดที่สองติดตัวช่วงเดินทางไปอเมริกา . และชุดสุดท้ายเก็บเป็นหลักฐานของตนเองตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ สถานศึกษาบางแห่งอาจเรียกเก็บ SEVIS Fee จากนักเรียนโดยตรง ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายในการจัดการค่า SEVIS เพิ่มจากที่ต้องจ่ายให้ Home Land Security

7. สุดท้ายก่อนไปสัมภาษณ์ ให้ตรวจเช็คเอกสารอีกครั้งว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ จากนั้นจัดเรียงเอกสารใส่แฟ้ม ให้เรียงเอกสารดังนี้ 
  • นำพาสปอร์ตและรูปถ่ายไว้หน้าสุด
  • ใบเสร็จค่าธรรมเนียมวีซ่า
  • ใบเสร็จรับเงินค่า  SEVIS Fee
  • เอกสาร DS-2019 
  • ใบนัดหมายการสัมภาษณ์ (Appointment Confirmation)
  • ใบ  Confirmation  DS-160 
  • สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก และทุกหน้าที่มีการประทับตราวีซ่า พร้อมลายเซ็นต์กำกับ
  • ใบรับรองสถานภาพนักศึกษา พร้อม Transcript  
  • ใบรับรองความประพฤติ 
  • ใบรับรองทางการแพทย์
  • ประกันภัยการเดินทาง
  • เอกสารรับรองทางเงินของผู้ปกครอง
  • เอกสารรับรองการทำงานของผู้ปกครอง
  • สุดท้ายจดหมายแนะนำตัว 

สถานที่ยื่นขอวีซ่า 

ในประเทศไทยสามารถยื่นขอวีซ่าอเมริกาได้ 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ คนที่จะสามารถสัมภาษณ์วีซ่าที่เชียงใหม่ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่อาศัย ทำงาน หรือเรียน ในจังหวัดดังต่อไปนี้ ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, พิจิตร, ตาก, กำแพงเพชร, น่าน, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ลำปาง, เพชรบูรณ์, แพร่ โดยต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้พำนักหรือทำงานหรือศึกษาไม่น้อยกว่า 3 เดือนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
95 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ 10330


สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่
387 ถ.วิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง เชียงใหม่ 50300 

หมายเหตุ: สำหรับคนที่มีทะเบียนบ้านที่เชียงใหม่่ แต่ทำงานกรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวข้างต้น ไม่สามารถสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ได้ ต้องสัมภาษณ์ที่กรุงเทพเท่านั้น

จากนั้นมาถึงขั้นตอนที่น่าตื่นเต้น "ยื่นเอกสารและสัมภาษณ์" มีคำแนะนำดังนี้ 

1. ตื่นนอนแต่เช้า ทำใจให้สบาย
2. อาบน้ำ แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ ห้ามใส่กางเกงยีนส์ ผู้ชายควรใส่สูท ผูกไท รองเท้าหนัง ส่วนผู้หญิงกางเกงหรือกระโปง ที่สุภาพ ห้ามใส่กระโปรงสั้น รองเท้าควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น
3. ควรไปถึงก่อนเวลานัดหมาย 1 ชั่วโมง
4. เมื่อมาถึงแล้วให้ต่อคิวรออยู่หน้าสถานทูต จากนั้นจะมีพนักงานมาตรวจเอกสารและเวลานัดหมาย
5. เตรียมตัวผ่านจุดตรวจเพื่อรักษาความปลอดภัย – อาวุธ ของมีคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถึง ไม่สามารถนำเข้ามาในสถานทูตฯ ได้ ให้ฝากไว้ที่พนักงานรักษาความปลอดภัย โดยยื่นอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้บัตรหมายเลขฝากไว้เพื่อมารับของคืนเมื่อสัมภาษณ์เสร็จ 

6. เจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า พร้อมแสกนรอบๆตัว 
7. เดินเข้าไปในสถานทูต ยื่นเอกสารให้พนักงาน จากนั้นพนักงานจะให้เอกสารแผ่นเล็กๆ บางคนได้รับสีขาว บางคนได้รับสีเหลือง แตกต่างกัน กรอกชื่อ ที่อยู่ที่ และเบอร์โทรศัพท์ และยื่นบัตรคิวให้
8. นั่งรอ จนกว่าจะมีคนเรียก เมื่อมีคนมาเรียก เดินเข้าไปในห้องเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ 
9. จากนั้นพนักงานจะบอกว่าไปต่อแถวไหน เพื่อสัมภาษณ์ 
10. การสัมภาษณ์นั้นจะมีสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ คำถามส่วนใหญ่ก็จะถามว่า 
  • แนะนำตัว
  • อยู่ทีไหน
  • ไปที่ไหน 
  • ไปกี่วัน 
  • เดินทางวันไหน กลับวันไหน
  • ทำไมถึงเลือกไปเมืองนั้น 
  • ใครเป็นคนออกเงินให้ 
  • ไปกี่คน คนเดียว หรือมีเพือนไปด้วย
  • เรียนทีไหน คณะอะไร จบมาแล้วจะทำอะไร 
  • เคยได้วีซ่าอเมริกาหรือยัง
  • นอกจากนี้ก็จะถามถึงว่าเคยไปเที่ยวประเทศไหนมาบ้าง 
  • เล่าประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ 
  • พูดได้กี่ภาษา อะไรบ้าง
  • เคยโดนปฏิเสธวีซ่าไหม
  • พ่อ แม่อยู่ไหน ทำงานอะไร 
11. คอยฟังคำถามให้ดี ตอบให้ชัดเจน หากไม่เข้าใจคำถามขอให้ทวนคำถามอีกรอบ
12. เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ หากวีซ่าผ่านจะไม่คืนพาสปอร์ต แต่จะให้ใบเอกสารเล็กๆ สีขาวหรือเหลืองที่เรากรอกไปข้างต้น แล้วบอกว่าให้เอาไปจ่ายเงินที่ไปรษณีย์ด้านนอก
13. จ่าหน้าซองจดหมายถึงตัวเอง จากนั้นชำระเงิน 75 บาท 
14. เดินออกสถานทูต อย่าลืมรับของที่ฝากไว้ 
15. กลับบ้านเพื่อรอรับพาสปอร์ตพร้อมวีซ่า ประมาณ 3-5 วันก็จะได้รับวีซ่า 
16. กรณีที่วีซ่าถูกปฏิเสธผู้ขอวีซ่าจะได้รับใบแจ้งเหตุผล และมีสิทธิที่จะยื่นขอสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา อีกครั้งเมื่อใดก็ได้ ในการสมัครวีซ่าใหม่ ผู้ขอวีซ่ายังคงต้องปฏิบัติตามกระบวนการทั้งหมด กรอกแบบฟอร์มการสมัครใหม่ ชำระค่าธรรมเนียมการสมัครวีซ่าอีกครั้ง 
17. การขอวีซ่าใหม่โดยที่ยังขาดหลักฐานที่หนักแน่นและมีนัยสำคัญที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของผู้ขอวีซ่า อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาอนุมัติวีซ่าได้

หมายเหตุ: หากสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ ให้ซื้อซองไปรษณีย์ไปก่อนวันสัมภาษณ์ บอกเจ้าหน้าที่ว่าซื้อซองไปรษณีย์เพื่อสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา สามารถซื้อได้ทีไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาแม่ปิง 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำร้องขอวีซ่า การกรอกแบบฟอร์ม DS-160 การเตรียมหลักฐาน และการสัมภาษณ์ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://thai.bangkok.usembassy.gov

ตอบทุกข้อสงสัย คลายทุกปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าอเมริกา ที่นี่ สำหรับคนที่สนใจข้อมูลการยื่นขอกรีนการ์ดด้วยตนเอง สามารถอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่



ขอให้ทุกคนโชคดีได้รับวีซ่าไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาอย่างสนุกสนาน


วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

เตรียมพร้อมเพื่อขอวีซ่าไปเที่ยวอเมริกา (Visa B1/B2)

คราวนี้มาถึงวีซ่ายอดนิยมอย่างวีซ่าอเมริกา ที่ทุกคนต่างพูดกันว่าเป็นวีซ่าที่โหดและหินมาก แต่หากเตรียมตัวดีๆ แล้วทั้งด้านข้อมูล เอกสาร และภาษาก็ไม่มีอะไรที่ยากเลย 

ส่วนตัวขอวีซ่าเข้าอเมริกา 2 ครั้ง ก็ผ่านทั้งสองครั้งครั้งแรกวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยน (J1) คร้้งที่ 2 วีซ่าท่องเที่ยว ได้มา 10 ปี สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนออกเดินทาง ทั้งเรื่องเอกสาร การนัดสัมภาษณ์ และการเตรียมตัวสัมภาษณ์ หากคิดว่าจะไปประมาณกลางปี ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ต้นปี

สิ่งแรกที่ต้องเตรียมคือ "เอกสารเพื่อยื่นขอวีซ่า" โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีอายุการเดินทางไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หากมีเล่มเก่า ให้นำเล่มเก่ามาแสดงด้วยในวันยื่นเอกสารขอวีซ่า (รายละเอียดการทำ Passport)
2. รูปถ่าย ขนาด 2X2 นิ้ว พื้นหลังสีขาว ไม่สวมหมวก หน้าตรง ไม่สวมแว่นกันแดด ที่สำคัญต้องเห็นใบหูทั้งสองข้างอย่างชัดเจน ไม่ใส่ต่างหู แต่งกายสุภาพ เรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ ใช้รูปถ่าย 2 รูป และแสกนเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ 1 รูป ไฟล์ jpg เพื่อใช้ตอนกรอกแบบฟอร์ม DS-160 
3. บัตรประจำตัวประชาชน 
4. ใบรับรองการศึกษาหรือใบรับรองการทำงาน ที่ระบุตำแหน่งงานชัดเจน ระยะเวลาในการทำงาน เงินเดือน วันลา และวันที่จะกลับมาทำงาน (ตัวอย่างจดหมายรับรองการทำงานเพื่อขอวีซ่า) ออกไม่เกิน 3 เดือน กรณีที่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ สามารถใช้เอกสารการเป็นเจ้าของกิจการ โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษ 
5. จดหมายเชิญจากญาติหรือเพื่อนที่อเมริกา โดยในจดหมายต้องระบุชื่อคนเชิญ พร้อมที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อในอเมริกา (ตัวอย่างจดหมายเชิญเพื่อใช้ในการขอวีซ่า)
6. แผนการเดินทางท่องเที่ยว ที่ระบุระยะเวลาในการท่องเที่ยว เมืองที่จะไป สายการบินที่ใช้ทั้งไปและกลับ กิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน และวันที่กลับถึงประเทศไทย (ตัวอย่างการเขียนแผนการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อขอวีซ่า)
7. จดหมายแนะนำตัว อันนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นภูมิหลังของเราว่าเป็นใคร มาจากที่ไหน ทำงานอะไร เคยไปต่างประเทศที่ไหนมาบ้าง และจะไปทำอะไรที่อเมริกา (ตัวอย่างการเขียนจดหมายเพื่อใช้ในการขอวีซ่า)
8. บัญชีธนาคาร ต้องมีเงินหมุนเวียนตลอด และมีเงินเพียงพอในการกิน อยู่ ใช้จ่าย ท่องเที่ยวในอเมริกา   หากไปสักหนึ่งอาทิตย์ควรมีเงินในบัญชีประมาณ 50,000-100,000 บาทขี้นไป ให้ธนาคารออก Bank Statement และ Bank guarantee ระบุจำนวนเงินเป็น USD 
9. เอกสารอื่นๆ เช่น ใบสมรส ใบเปลี่ยนชื่อ โฉนดที่ดิน สัญญาจดจำนอง ภาระผ่อนต่างๆ เอกสารที่แสดงภาระผูกพันกับประเทศไทย เป็นต้น 

เมื่อเตรียมเอกสารต่างๆ ครบแล้ว ก็มาถึงขั้นตอน "กรอกแบบฟอร์มและนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์วีซ่า" โดยมีรายละเอียดดังนี้ 


1. เข้าไปที่เว็บ www.ustraveldocs.com/th และสร้างบัญชีผู้ใช้ เลือกประเภทของวีซ่าและค่าธรรมเนียมตามวีซ่าประเภทนั้นๆ ซึ่งจะได้แบบฟอร์มใบฝากเงินธนาคารที่มีรายละเอียดตามที่กรอก ให้พิมพ์แบบฟอร์มใบฝากเงินธนาคารนั้นออกมา  ดูวิธีการกรอกข้อมูลอย่างละเอียด ที่นี่

2. นำใบฝากเงินธนาคารที่ได้มาไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา ณ สาขาตามที่กำหนดไว้เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมสมัครวีซ่า 

3. การกรอกแบบฟอร์มขอวีซ่าประเภทชั่วคราว DS-160 เป็นแบบฟอร์ม Online ที่ต้องกรอกทาง Internet เท่านั้น เข้าไป ที่นี่ ดูคำแนะนำวิธีการกรอกแบบฟอร์มได้ ที่นี่ และดูรายละเอียดแบบฟอร์มที่แปลเป็นภาษาไทยได้ ที่นี่

4. เมื่อกรอกครบถ้วน เรียบร้อยแล้ว ให้ Print หน้า Confirmation DS-160  พร้อมหน้าที่กรอกทั้งหมดออกมาใส่แฟ้มรวมกับเอกสารข้างต้น 

5. กำหนดนัดหมายวันสัมภาษณ์ทางอินเทอร์เน็ตที่ www.ustraveldocs.com/th หรือทางโทรศัพท์ผ่านศูนย์บริการที่ 02-105-4110 


6. สุดท้ายก่อนไปสัมภาษณ์ ให้ตรวจเช็คเอกสารอีกครั้งว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ 

สถานที่ยื่นขอวีซ่า 


ในประเทศไทยสามารถยื่นขอวีซ่าอเมริกาได้ 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ คนที่จะสามารถสัมภาษณ์วีซ่าที่เชียงใหม่ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่อาศัย ทำงาน หรือเรียน ในจังหวัดดังต่อไปนี้ ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, พิจิตร, ตาก, กำแพงเพชร, น่าน, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ลำปาง, เพชรบูรณ์, แพร่ โดยต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้พำนักหรือทำงานหรือศึกษาไม่น้อยกว่า 3 เดือนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
95 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ 10330


สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่
387 ถ.วิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง เชียงใหม่ 50300


หมายเหตุ: สำหรับคนที่มีทะเบียนบ้านที่เชียงใหม่่ แต่ทำงานกรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวข้างต้น ไม่สามารถสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ได้ ต้องสัมภาษณ์ที่กรุงเทพเท่านั้น



จากนั้นมาถึงขั้นตอนที่น่าตื่นเต้น "ยื่นเอกสารและสัมภาษณ์" มีคำแนะนำดังนี้ 

1. ตื่นนอนแต่เช้า ทำใจให้สบาย 
2. อาบน้ำ แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ ห้ามใส่กางเกงยีนส์ ผู้ชายควรใส่สูท ผูกไท รองเท้าหนัง ส่วนผู้หญิงกางเกงหรือกระโปง ที่สุภาพ ห้ามใส่กระโปรงสั้น รองเท้าควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น 
3. ควรไปถึงก่อนเวลานัดหมาย 1 ชั่วโมง 
4. เมื่อมาถึงแล้วให้ต่อคิวรออยู่หน้าสถานทูต จากนั้นจะมีพนักงานมาตรวจเอกสารและเวลานัดหมาย 
5. เตรียมตัวผ่านจุดตรวจเพื่อรักษาความปลอดภัย – อาวุธ ของมีคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถึง ไม่สามารถนำเข้ามาในสถานทูตฯ ได้ ให้ฝากไว้ที่พนักงานรักษาความปลอดภัย โดยยื่นอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้บัตรหมายเลขฝากไว้เพื่อมารับของคืนเมื่อสัมภาษณ์เสร็จ 
6. เจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า พร้อมแสกนรอบๆตัว 
7. เดินเข้าไปในสถานทูต ยื่นเอกสารให้พนักงาน จากนั้นพนักงานจะให้เอกสารแผ่นเล็กๆ บางคนได้รับสีขาว บางคนได้รับสีเหลือง แตกต่างกัน กรอกชื่อ ที่อยู่ที่ และเบอร์โทรศัพท์ และยื่นบัตรคิวให้
8. นั่งรอ จนกว่าจะมีคนเรียก เมื่อมีคนมาเรียก เดินเข้าไปในห้องเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ 
9. จากนั้นพนักงานจะบอกว่าไปต่อแถวไหน เพื่อสัมภาษณ์ 
10. การสัมภาษณ์นั้นจะมีสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ คำถามส่วนใหญ่ก็จะถามว่า 
  • แนะนำตัว
  • อยู่ทีไหน
  • ไปที่ไหน 
  • ไปกี่วัน 
  • เดินทางวันไหน กลับวันไหน
  • ทำไมถึงเลือกไปเมืองนั้น 
  • จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง
  • ใครเป็นคนออกเงินให้ 
  • พักที่ไหน กับใคร
  • ไปกี่คน คนเดียว หรือมีเพือนไปด้วย
  • หากมีญาติหรือเพื่อนอยู่ก็จะถามว่าเพื่อนหรือญาติทำอะไรที่อเมริกา อยู่นานแค่ไหน  
  • จากนั้นถามเรื่องการทำงาน ว่าทำงานอะไร ที่ไหน ทำมากี่ปีแล้ว 
  • หากเรียนอยู่ ก็จะถามว่าเรียนทีไหน คณะอะไร จบมาแล้วจะทำอะไร 
  • เคยได้วีซ่าอเมริกาหรือยัง
  • นอกจากนี้ก็จะถามถึงว่าเคยไปเที่ยวประเทศไหนมาบ้าง 
  • เล่าประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ 
  • พูดได้กี่ภาษา อะไรบ้าง
  • เคยโดนปฏิเสธวีซ่าไหม
  • พ่อ แม่อยู่ไหน ทำงานอะไร 
11. คอยฟังคำถามให้ดี ตอบให้ชัดเจน หากไม่เข้าใจคำถามขอให้ทวนคำถามอีกรอบ
12. เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ เจ้าหน้าที่จะคืนเอกสารบางส่วนให้ แต่จะเก็บใบรับรองการทำงาน จดหมายเชิญไว้ หากวีซ่าผ่านจะไม่คืนพาสปอร์ต 
13. เดินออกสถานทูต อย่าลืมรับของที่ฝากไว้ 
14. กลับบ้านเพื่อรอรับพาสปอร์ตพร้อมวีซ่า ประมาณ 3-5 วันก็จะได้รับวีซ่า บางคนจะได้ 5 ปี หรือ 10 ปี แตกต่างกันไป 
15. ระยะเวลาวีซ่าที่ได้รับ ไม่ได้หมายความว่า สามารถอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับวีซ่า ผู้ขอวีซ่าอเมริกาจะทราบระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตได้จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินในอเมริกา โดยจะประทับวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศอเมริกาไว้ในหนังสือเดินทาง อาจได้รับ 3-6 เดือน 
16. กรณีที่วีซ่าถูกปฏิเสธผู้ขอวีซ่าจะได้รับใบแจ้งเหตุผล และมีสิทธิที่จะยื่นขอสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา อีกครั้งเมื่อใดก็ได้ ในการสมัครวีซ่าใหม่ ผู้ขอวีซ่ายังคงต้องปฏิบัติตามกระบวนการทั้งหมด กรอกแบบฟอร์มการสมัครใหม่ ชำระค่าธรรมเนียมการสมัครวีซ่าอีกครั้ง 
17. การขอวีซ่าใหม่โดยที่ยังขาดหลักฐานที่หนักแน่นและมีนัยสำคัญที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของผู้ขอวีซ่า อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาอนุมัติวีซ่าได้

หมายเหตุ: หากสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ ให้ซื้อซองไปรษณีย์ไปก่อนวันสัมภาษณ์ บอกเจ้าหน้าที่ว่าซื้อซองไปรษณีย์เพื่อสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา สามารถซื้อได้ทีไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาแม่ปิง 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำร้องขอวีซ่า การกรอกแบบฟอร์ม DS-160 การเตรียมหลักฐาน และการสัมภาษณ์ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://thai.bangkok.usembassy.gov 

ตอบทุกข้อสงสัย คลายทุกปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าอเมริกา ที่นี่ สำหรับคนที่สนใจข้อมูลการยื่นขอกรีนการ์ดด้วยตนเอง สามารถอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่



ขอให้ทุกคนโชคดีได้รับวีซ่าไปท่องเที่ยวอเมริกาอย่างสนุกสนาน





วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

Schengen Visa ทำวีซ่าไปเที่ยวยุโรป

บทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ "Schengen Visa (เชงเก็น วีซ่า)" เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูกับวีซ่าชนิดนี้บ้าง 


"Schengen Visa (เชงเก็น วีซ่า)" เป็นวีซ่าที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ายุโรปในหลายๆ ประเทศพร้อมกัน โดยไม่ต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าหลายครั้งให้เสียเวลา การทำวีซ่านั้นให้ยื่นเรื่องกับสถานทูตประเทศที่จะเดินทางเข้าเป็นประเทศแรก หรือประเทศที่อยู่นานที่สุด เช่น ลงเครื่องที่อิตาลี อยู่ที่อิตาลี 3 วัน จากนั้นไปฝรั่งเศส 2 วัน และข้ามไปเที่ยวเบลเยี่ยม 5 วัน ประเทศที่ควรไปยื่นเรื่องขอวีซ่าคือ เบลเยี่ยม เพราะใช้เวลาอยู่นานที่สุด ในกรณีที่อยู่แต่ละประเทศเท่าๆ กัน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี อย่างละ 3 วัน ให้ยื่นเรื่องขอวีซ่าที่ประเทศที่เข้าเป็นประเทศแรก 

คราวนี้มาดูกันว่าประเทศไหนในแถบยุโรปที่สามารถใช้ "Schengen Visa" 

1. Austria ออสเตรีย
2. Belgium เบลเยี่ยม
3. Czech Republic สาธารณรัฐเช็ก
4. Denmark เดนมาร์ก
5. Estonia เอสโตเนีย
6. Finland ฟินแลนด์
7. France ฝรั่งเศส
8. Germany เยอรมัน
9. Greece กรีซ
10. Hungary ฮังการี
11. Iceland ไอซ์แลนด์
12. Italy อิตาลี
13. Latvia ลัตเวีย
14. Lithuania ลิทัวเนีย
15. Luxembourg ลักเซมเบิร์ก
16. Malta มอลตา
17. Netherlands เนเธอร์แลนด์
18. Norway นอร์เวย์
19. Poland โปแลนด์
20. Portugal โปรตุเกส
21. Slovakia สโลวาเกีย
22. Slovenia สโลวีเนีย
23. Spain สเปน
24. Sweden สวีเดน
25. Switzerland สวิสเซอร์แลนด์


ประเภทของ "Schengen Visa" (ข้อมูลจาก: www.beebah.net)

1. ประเภท A: เป็นวีซ่าทรานซิท กรณีที่เดินทางทางอากาศ และมีการ stop-over หรือ แวะ ในประเทศที่เป็นเชงเก้น ในระหว่างการเดินทางระหว่างประเทศหนึ่ง ไป อีกประเทศหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ออกนอกสนามบิน ก็ไม่ต้องขอวีซ่าประเภทนี้
2. ประเภท B : เป็นวีซ่าทรานซิท เช่นกัน คล้ายกับประเภท A แต่ ประเภท B เป็นวีซ่าที่มีอายุไม่เกิน 5 วัน สำหรับผู้ที่ถือพาสสปอร์ต ที่ไม่ได้เป็น visa-free สำหรับประเทศปลายทาง (ที่ไม่ใช้เชงเก้น) เช่น คนไทย จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ต้องมีวีซ่าอเมริกา กรณีนี้ หากจะแวะ”ผ่าน” ยุโรป สามารถขอวีซ่าประเภทนี้ได้ แต่ได้ไม่เกินครั้งละ 5 วันเท่านั้น
3. ประเภท C : short-term stay visa วีซ่าเพื่อการพำนักระยะสั้น ส่วนใหญ่แล้วจะขอเป็นวีซ่าประเภทนี้กัน รวมถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวด้วย และวีซ่าประเภทนี้ ไม่สามารถอยู่ใน EU ได้เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลารวมครึ่งปี
4. ประเภท D : วีซ่าที่ใช้เข้าได้เฉพาะประเทศที่คุณขอไปเท่านั้น เช่น ขอที่สถานฑูตเบลเยี่ยม วีซ่านักเรียน ทางสถานทูตก็อาจจะให้ type D มา คือ ต้องเข้าเฉพาะเบลเยี่ยม และห้ามออกไปประเทศอื่น จนกว่าจะไปทำเรื่องขอ ID นักเรียนที่เบลเยี่ยมก่อน (คือมาถึงที่เบลเยี่ยมแล้ว ให้รีบไปทำเรื่องเลย) พอได้ ID นี้แล้วถึงสามารถเดินทางไปประเทศในกลุ่มเชงเก้นประเทศอื่นได้


การเตรียมหลักฐานและขั้นตอนการยื่นขอวีซ่านั้นต้องไปติดต่อที่สถานทูตประเทศที่จะเข้าประเทศแรก หรือประเทศที่อยู่นานที่สุด ส่วนใหญ่แล้วมีเอกสารที่ต้องเตรียมดังนี้ 

1. ใบ APPLICATION FORM (ติดต่อขอที่สถานทูต หรือทางเว็บไซต์ของสถานทูต)
2. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่ยังมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (รายละเอียดการทำ Passport)
3. บัตรประจำตัวประชาชน
4. รูปถ่ายสี ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมแว่นตา ไม่สวมหมวก
5. เอกสารยืนยันการจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
6. ใบรับรองการประกันสุขภาพที่ถูกกฏหมายของประเทศที่จะไปเยือน ครอบคลุมระยะเวลาในการเดินทาง และเลือกการประกันที่ครอบคลุมการดูแลทั้งเรื่องกระเป๋าเดินทาง อุบัติเหตุ สุขภาพ มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท
8. เอกสารรับรองการเงิน Bank Statement และ Bank guarantee ต้องแสดงให้เห็นว่ามีทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 100 ยูโรต่อวัน หากไป 10 วัน ควรมีเงินอย่างน้อย 1000 ยูโร หรือประมาณ 50,000 บาท เป็นบัญชีที่เคลื่อนไหว มีการเข้า-ออกของเงินอยู่เสมอ หากมีบัตรเครดิตให้ถ่ายสำเนาและแนบไปกับ 
Bank Statement 
9. เอกสารยืนยันการจองโรงแรม ซึ่งออกเป็นจดหมาย พร้อมตราประทับของโรงแรม
10. จดหมายเชิญโดยเฉพาะจากทางบริษัท จากเพื่อนหรือญาติที่อยู่ในประเทศที่จะไปเยือน ซึ่งเป็นจดหมายที่ออกโดย City Hall ในเขตที่เพื่อนหรือญาติอาศัยอยู่ (บางสถานทูตอนุญาตให้ใช้จดหมายที่เพื่อนหรือญาติเขียนเองได้ ส่งเป็นจดหมายพร้อมลายเซ็นต์ มีที่อยู่ แนบสำเนาทะเบียนบ้าน และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ)
11. ใบรับรองการศึกษาหรือจดหมายรับรองการทำงาน (ตัวอย่างจดหมายรับรองการทำงาน)

12. แผนการเดินทางท่องเที่ยว ระบุว่าจุดประสงค์ในการเดินทาง ประเทศที่จะเดินทางไปเยือน วันที่จะเดินทางไป-กลับ สายการบินที่ใช้ สถานที่ท่องเทียว สถานที่พัก ชื่อโรงแรม ที่อยู่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
13. ค่าธรรมเนียมในการทำวีซ่า (ติดต่อที่สถานทูตว่าต้องเตรียมเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ประมาณ 2,500-3,000 บาท)


การยื่นคำร้องขอวีซ่านั้น สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าแบบเดินทางเข้า-ออกครั้งเดียว หรือเดินทาง เข้า-ออกหลายครั้งก็ได้ แต่ทั้งนี้ รวมเวลาที่พำนักทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่เดินทางเข้าประเทศในกลุ่มสัญญาเชงเก็น

ทำวีซ่าไปเยือนแดร๊กคูล่าที่ "โรมาเนีย (Romania)"

"โรมาเนีย (Romania)"  เป็นประเทศในทวีปยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดประเทศยูเครนและประเทศมอลโดวา ทิศตะวันตกจดประเทศฮังการีและประเทศเซอร์เบีย ทิศใต้จดประเทศบัลแกเรีย มีชื่อเสียงในเรื่องดินแดนปราสาทแดร๊กคูล่า มีแหล่งอารายธรรมเก่าแก่ที่สวยงาม และน่าสนใจมากมาย ได้แก่ ปราสาทบราน ที่เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของแดร๊กคู่ล่า พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านในกรุงบูคาเรสต์  พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และรูปแบบบ้านสมัยโบราณในเขตต่างๆ ของประเทศโรมาเนีย อาคารรัฐสภา ซึ่งถือเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ใช้เวลาสร้างนานถึง 5 ปี และปราสาทเพเรส ในเมืองซินายา เป็นปราสาทที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในโรมาเนีย สร้างขึ้นโดยกษัตริย์คาโรลที่ 1 ใช้เวลาสร้างนานถึง 10 ปี ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบเยอรมัน ภายในปราสาทตกแต่งอย่างหรูหราอลังการ มีการใช้ไม้แกะสลักงดงามอยู่มากมาย เป็นปราสาทที่รวบรวมงานศิลปะจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรป

นอกจากโรมาเนียจะเป็นประเทศที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส และยังคงรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมไว้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการท่องเที่ยวโรมาเนียมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรปประเทศอื่นๆ 

สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศโรมาเนียนั้นจะต้องขอวีซ่า (Visa) ก่อนเข้าประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้ 

เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอวีซ่า

1. ใบ APPLICATION FORM (ติดต่อขอที่สถานทูต)
2. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่ยังมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (รายละเอียดการทำ Passport)

3. บัตรประจำตัวประชาชน
4. รูปถ่ายสี ขนาด 2 นิ้ว 1 รูป
5. เอกสารยืนยันการจองตั๋วเครื่องบิน ไปกลับ (แนะนำ Austrian Airline ไม่แพงมาก ประมาณ 20,000 บาทไป-กลับ รวมภาษี บริการดี มีคุณภาพ)

6. ใบรับรองการประกันสุขภาพที่ถูกกฏหมายของประเทศโรมาเนีย (ขอรายละเอียดที่สถานทูต) ครอบคลุมระยะเวลาที่พำนักในโรมาเนีย
8. เอกสารรับรองการเงิน Bank Statement และ Bank guarantee 
ต้องแสดงให้เห็นว่ามีทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางและพำนักอยู่ที่โรมาเนีย ประมาณ 100 ยูโรต่อวัน หากไป 10 วัน ควรมีเงินอย่างน้อย 1000 ยูโร หรือประมาณ 50,000 บาท
9. เอกสารยืนยันการจองโรงแรมในโรมาเนีย ซึ่งออกเป็นจดหมาย พร้อมตราประทับของโรงแรม
10. จดหมายเชิญโดยเฉพาะจากทางบริษัท จากเพื่อนหรือญาติที่อยู่ในประเทศโรมาเนีย ซึ่งเป็นจดหมายที่ออกโดย City Hall ในเขตที่เพื่อนหรือญาติอาศัยอยู่ (ภาษาโรมาเนียพร้อมตราประทับ)
11. ใบรับรองการศึกษาหรือจดหมายรับรองการทำงาน (ตัวอย่างจดหมายรับรองการทำงาน)

12. ค่าธรรมเนียมในการทำวีซ่า 
  • ทรานสิตที่สนามบิน 2,840 บาท
  • อยู่ระยะสั้น 2,840   บาท
  • อยู่ระยะยาว  5,840 บาท


ขั้นตอนในการยื่นเรื่องขอวีซ่า

1. เดินทางไปที่สถานทูตเพื่อขอใบ APPLICATION FORM และสอบถามเรื่องใบรับรองการประกันสุขภาพ ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะสอบว่าไปทำไม ไปกี่วัน และแนะนำการเตรียมเอกสาร หลักฐานเพื่อยื่นขอวีซ่า 
2. เตรียมเอกสารและกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วน 
3. กลับไปที่สถานทูตอีกครั้งเพื่อยื่นเอกสาร และสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ หากพูดภาษาโรมาเนียได้ ก็สามารถสัมภาษณ์เป็นภาษาโรมาเนีย คำถามส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับว่าไปเมืองไหน ไปทำไม ไปอยู่กี่วัน แล้วจะกลับเมื่อไหร่ หากมีเพื่อนหรือญาติที่โรมาเนียก็จะถามว่าเพื่อนหรือญาติทำอะไรที่โรมาเนีย รู้จักเพื่อนที่โรมาเนียได้อย่างไร เป็นต้น 
4. เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าให้มารับวีซ่าได้วันไหน เวลาไหน 
5. มารับวีซ่าตรงเวลา ตรวจดูชื่อ รายละเอียดว่าถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขก่อนเดินทาง

สถานที่ในการติดต่อขอวีซ่า

สถานทูตโรมาเนีย ประจำประเทศไทย
20/1 ซอยราชครู ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0-2617-1551
โทรสาร 0-2617-1113

คำแนะนำ

1. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย
2. การเข้าสถานทูต กดกริ่งเพียงหนึ่งครั้ง จากนั้นจะมีคนมาเปิดประตู และนั่งรอที่ห้องรับแขก 
3. เมื่อพนักงานเรียกจึงเข้าไปยื่นเอกสาร และสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ หรือโรมาเนีย 
4. เตรียมเอกสารให้ครบ หากไม่ครบ ทางสถานทูตจะไม่ดำเนินการสัมภาษณ์และพิจารณาเอกสารเพื่อออกวีซ่า
5. ยื่นเอกสารทั้งตัวจริงและสำเนา เมื่อสัมภาษณ์เสร็จเจ้าหน้าที่จะคืนเอกสารตัวจริงให้
6. หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ทางสถานทูตจะแจ้งว่าให้มารับวีซ่าวันใด โดยปกติ 3 วันทำการ 
7. ในวันที่มารับวีซ่าให้เตรียมใบเสร็จรับเงิน บัตรประจำตัวประชาชน และค่าทำการ 160 บาท 
8. เวลาทำการเพื่อยื่นเรื่องขอวีซ่าคือ จันทร์ พุธ ศุกร์ 9.00-12.00 น.
9. ทางสถานทูตจะไม่คืนเงินที่ได้ชำระไว้ในยื่นเอกสารขอวีซ่า หากคำร้องถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลโรมาเนีย
10. การเดินทางไปสถานทูตสามารถขึ้นรถไฟฟ้ามายังสถานีอารีย์ จากนั้นเดินออกทางประตูด้านตึกปิยะวรรณ เดินไปเรื่อยๆ จนถึงซอยราชครู เดินเข้าซอยไปเรื่อยๆ เจอสามแยกเลี้ยวซ้าย เดินต่อไปเรื่อยๆ จะเจอสถานทูตอยู่ทางขวามือ หากไม่อยากเดิน สามารถขึ้นมอเตอร์ไซค์ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ บอกว่าไปสถานทูตโรมาเนีย 
11. นักท่องเที่ยวสามารถนำเงินเข้าประเทศโรมาเนียได้ไม่เกิน 10,000 ยูโร ถ้านำเข้ามากกว่านั้นจะต้องแจ้งให้ทางการโรมาเนียทราบ


วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยเรื่องหนังสือเดินทาง (Passport)

หลังจากที่เรียนรู้ข้อมูลโครงการไปต่างประเทศ เก็บเงิน เตรียมความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษแล้ว ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ หนังสือเดินทาง (Passport) 

หนังสือเดินทาง ถือเป็นเอกสารสำคัญที่กองหนังสือเดินทางกระทรวงต่างประเทศ ออกให้กับประชาชนไทย ผู้ซึ่งมีเหตุต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อใช้เป็นหลักฐานบันทึกข้อมูลบุคคล และประวัติการเข้าออกทั้งประเทศไทย และประเทศที่บุคคลนั้นๆ ไป อาจออกโดยสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลไทย ณ ต่างประเทศ ทั้ง 86 แห่ง  ถือเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก และยังเป็นสมุดบันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ อีกด้วย 

หนังสือเดินทางในประเทศไทยปัจจุบันนั้นมี 4 ประเภทได้แก่ 

1. หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู) ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี
2. หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม) หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว โดยมีข้อกำหนดออกเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ
3. 
หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด) ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้ 

  • พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
  • พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
  • ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
  • นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
  • ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
  • ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
  • อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
  • ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
  • ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
  • คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
  • บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย

4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว)

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ประเภทพิเศษ คือ หนังสือเดินทางพระ ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม และหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น

เอกสารที่ใช้ในยื่นทำหนังสือเดินทาง

1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. เอกสารเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี
- ใบเปลี่ยนชื่อ หรือสกุล
- ทะเบียนการรับรองบุตรบุญธรรม
- ทะเบียนการรับรองบุตร
- ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดา
3. ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าหนังสือ 1,000 บาท + ค่าถ่ายรูป 75 บาท + ค่าอากร 5 บาท+ ค่าเขียนคำร้อง 10 บาท รวมทั้งหมด 1,090 บาท ถ้าจะให้จัดส่งทางไปรษณีย์ เสียค่าส่งลงทะเบียนด่วนพิเศษอีก 40 บาท


ขั้นตอนการยื่นขอหนังสือเดินทาง 

1. 
รับบัตรคิว รับบัตรคิว พร้อมทั้งกรอกชื่อ-สกุลภาษาอังกฤษ
2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อตรวจสอบข้อมูล
  • ข้อมูลชีวภาพ (วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้ายและนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า )
  • แจ้งความประสงค์หากต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์
3. ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (และค่าส่งไปรษณีย์ 40 บาทหากประสงค์ให้จัดส่งทางไปรษณีย์) รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม


** การขึ้นหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพราะเล่มเก่าหมดอายุ แต่ว่ายังมี VISA ของประเทศต่างๆ ที่ยังใช้งานได้ ต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับรองหนังสือเดินทางเล่มเก่าด้วย หากไม่ติดต่อ VISA จะใช้ไม่ได้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และค่าธรรมเนียม 100 บาท

สถานที่ทำหนังสือเดินทาง


กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ
- ที่อยู่ 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
- โทรศัพท์ 0-2981-7171-99 โทรสาร 0-2981-7256

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา
- ที่อยู่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้บางนา อาคาร “บางนาฮอลล์”(ด้านข้างศูนย์การค้า) ชั้น B1
- โทรศัพท์ 0-2383-8401-3 โทรสาร 0-2383-8398

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า
- ที่อยู่ อาคารธนาลงกรณ์ทาวเวอร์ (ชั้นใต้ดิน) แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม. 10700
- โทรศัพท์ 0-2446-8111-2 โทรสาร 0-2446-8118-9

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดขอนแก่น
- ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
- โทรศัพท์ 0-4324-2707, 0-4324-3462, 0-4324-2655 โทรสาร 0-4324-3441

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดเชียงใหม่- ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
- โทรศัพท์ 0-5389-1535-6 โทรสาร 0-5389-1534

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดสงขลา
- ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) ชั้น 1 ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จ.สงขลา 9000
- โทรศัพท์ 0-7432-6510-1 โทรสาร 0-7432-6506

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดอุบลราชธานี
- ที่อยู่ อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000
- โทรศัพท์ 045-242313-4 โทรสาร 045-242301

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ที่อยู่ ศาลาประชาคม ถนนหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
- โทรศัพท์ 077-274940, 077-274942-3 โทรสาร 077-274941

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดนครราชสีมา
- ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถนนมหาดไทย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
- โทร 044-243-132, 044-243-124 โทรสาร 044-243-133

สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดอุดรธานี
- ที่อยู่ ศูนย์อเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี (ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง) ถนนอธิบดี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 41000
- โทร 042-212827, 042-212-318 โทรสาร 042-222-810

การรับหนังสือเดินทาง 
  • ในต่างจังหวัดรับทางไปรษณีย์เท่านั้น ใช้เวลา 1 อาทิตย์ 
  • ในกรุงเทพหากมารับด้วยตนเอง รับหลังจากวันที่ยื่นเรื่อง 3 วันทำการ โดยยื่นพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน และใบรับหนังสือเดินทาง 

คำแนะนำในการใช้หนังสือเดินทาง 
  • ห้ามขีด เขียน หรือแก้ไขหนังสือเดินทาง
  • ก่อนออกเดินทางควรตรวจดูความเรียบร้อยของหนังสือเดินทาง และวันหมดอายุ หากใกล้อายุควรรีบต่ออายุก่อนออกเดินทาง
  • ถือเป็นหลักปฏิบัติและเป็นกฎเกณฑ์สำหรับหลายประเทศที่จะต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนก่อนการเดินทางออกนอกประเทศ หากหนังสือเดินทางมีอายุไม่ถึง 6 เดือน จะต้องยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางใหม่ รวมทั้ง วีซ่าควรตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลของประเทศที่กำลังจะเดินทางไป เกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ ก่อนเดินทาง
  • ก่อนออกเดินทางควรถ่ายสำเนาหนังสือเดินทางไว้ 1-2 ชุด เพื่อใช้เป็นหลักฐานยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในกรณีที่หนังสือสูญหาย
  • ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน ควรแจ้งชื่อ ที่อยู่ให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่เดินทางไปพำนักทราบ รวมทั้งแจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ทุกครั้ง เพื่อสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยสามารถติดต่อท่านได้ในยามฉุกเฉิน

กรณีที่หนังสือเดินทางสูญหาย
  • สูญหายในประเทศ ต้องติดต่อแจ้งความและรับใบแจ้งความจากตำรวจมายื่นขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทางฉบับที่สูญหาย
  • สูญหายในต่างประเทศ ต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายต่อทางการท้องถิ่น และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ไปติดต่อที่สถานทูต สถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่
  • หากในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานทูตสถานกงสุลจะออกเอกสารเดินทาง (Certificate of Identity) ให้ใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเอกสารเดินทางจะหมดอายุการใช้งาน


สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเดินทาง สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ www.consular.go.th 

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนะนำตัว

สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับสู่ 108 พันเก้า เรื่องเล่าในอเมริกา บล็อกเรื่องเล่าสนุกๆ จากการท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในอเมริกา นำเสนอเรื่องราวน่ารู้เพื่อเตรียมตัวก่อนย้ายมาอยู่อเมริกา พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำในการทำวีซ่า กรีนการ์ด เตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษ หาที่เรียน ที่ทำงานในอเมริกา

ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อ นันทพร คำยอด เรียกสั้นๆ ว่า นุ้ยนะคะ จะเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองยังไงดีละ ขอย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วก่อนย้ายมาอยู่อเมริกานะคะ

เราก็เป็นเหมือนเด็กคนอื่นๆ นี้แหละที่อยากรู้ อยากเห็น อยากไปท่องโลกกว้าง แต่ก็นะมีแค่ความอยาก แต่ไม่มีงบประมาณ ได้แต่มองหาโครงการไปเรียน ไปเที่ยวต่างประเทศแบบฟรีๆ มีแต่คนบอกว่าฝันลมๆ แล้งๆ มันไม่มีหรอก แต่ก็ไม่สนคะ อ่านข่าวอยู่เรื่อยๆ มีโครงการไหนเปิดรับสมัครก็ไป แต่ไม่ผ่านสักที เกือบจะท้อแล้วนะ อยู่ๆ พี่ทำงานด้วยกันก็มาบอกว่ากำลังหาคนไปทำงานที่สิงค์โปร์

ตอนนั้นปิดเทอมช่วงเรียนปี 2 จะขึ้นปี 3 ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหาร หาเงินค่าเทอม แล้วพี่ที่ทำงานครัว แฟนเขาทำงานที่โรงแรมในตัวเมืองเชียงใหม่ บอกว่าทางโรงแรมหาพนักงานต้อนรับไปงาน Chiang Mai Food Festival in Singapore 2 อาทิตย์ ไปสิคะ รออะไรอะ

แต่มันก็ไม่ง่ายนะ เขาต้องสัมภาษณ์ก่อน แล้วต้องมีความรู้เรื่องอาหารไทยด้วย ต้องเตรียมชุดไทยไปเอง ต้องแต่งหน้าทำผมได้ ในใจก็กล้าๆ กลัวๆ นะ คือไม่พร้อมสักอย่าง ไม่เคยไปทำงานต่างประเทศเลย ความรู้อะไรก็ไม่มีเลย ดีหน่อยที่ได้ภาษา ถึงแม้จะไม่เก่ง สำเนียงไม่เป๊ะเวอร์ก็เถอะ แต่ก็พอสื่อสารได้ คิดกลับไปกลับมาอยู่นั่นแหละ เราไม่พร้อมนะ จะทำได้ดีเหรอ แต่อีกใจก็จะรอให้พร้อมแล้วเริ่มทำเหรอ ไม่ลงมือทำแล้วมันจะรู้ได้ไงว่าทำได้ไม่ได้ สับสนได้อยู่คืนหนึ่ง ความอยากไปมันมีมากกว่าความกลัว เลยชนะไป

พอตัดสินใจว่าจะทำละ รีบกลับบ้านนอกไปหาแม่ให้ช่วยหาชุดไทยให้ แต่แม่ก็หาได้แค่ชุดเดียว ก็ไม่พออีก เครื่องประดับก็ไม่มี เลยไปขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่โรงเรียนเก่า ขอยืมชุดไทยของนางรำที่โรงเรียนมาใส่ก่อน แล้วไปหาป้าข้างบ้านที่ทำร้านเสริมสวยให้ช่วยสอนแต่งหน้า ทำผมให้

ตอนนั้นจำได้ว่าเหนื่อยมาก ทำงานแทบทุกวัน เสร็จจากทำงานตอนกลางคืนก็หาหนังสืออาหารไทยมาอ่าน เปิดอินเตอร์เน็ตดูว่าพนักงานต้อนรับที่ต่างประเทศเขาต้อนรับลูกค้ายังไง พูดประโยคแบบไหน ก็ลองทำตามเขาดู พูดอยู่หน้ากระจกจนเพื่อนรูมเมทบอกว่าบ้าไปแล้ว แต่ก็บ้าจนผ่านสัมภาษณ์นะคะ 

ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก มันตื่นเต้นมาก ทำตัวไม่ถูก เหมือนบ้านนอกเข้ากรุง ยิ่งตอนโดนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจนะ มือมันสั่นไปหมด จนพี่ๆ คนอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วย


สิงค์โปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่สะอาดมากๆ บ้านเมืองดูดี เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้คนก็น่ารักเป็นกันเอง วันแรกที่เดินทางมาถึงโรงแรมที่จัดงาน ตื่นตะลึงในความสวย เกิดมาไม่เคยเข้าโรงแรมหรูๆ แบบนี้เลย

งานจัดขึ้นที่โรงแรมออร์คิด คันทรีคลับ (Orchid Country Club Hotel, Singapore) หน้าที่หลักๆ ที่ทำคือ พาแขกเดินชมงาน อธิบายอาหารแต่ละชนิดให้แขกที่มาร่วมงานฟัง และตอบคำถามแขก ส่วนใหญ่เป็นนักการทูต นักธุรกิจ และนักการเมือง งานนี้ได้มีโอกาสต้อนรับเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายโก๊ะ จ๊กตง ถือเป็นโอกาสที่ดีมากในชีวืต

การทำงานที่สิงคโปร์ เจ้าภาพจัดงานต้อนรับดีมาก อำนวยความสะดวกในการทำงาน และจัดหาพนักงานโรงแรมมาคอยช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาฟิลิปปินส์ที่มาฝึกงานด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมที่สิงคโปร์ หล่อทุกคน ขยันทำงาน พูดเก่ง ใจดี ตอนแรกว่าจะได้แฟนกลับบ้านแล้ว แต่เขาบอกว่าแค่เพื่อนก็พอ เลยได้แค่มิตรภาพดีๆ

ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายเหมือนลิงปลอกกล้วยเข้าปากนะ คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่พูดได้ทั้งจีนและอังกฤษ สำเนียงภาษาอังกฤษจะฟังยากมาก มีความยากระดับสิบ พูดเลย บางครั้งเราไม่รู้เลยว่าที่เขาพูดใส่หน้า เขาพยายามสื่อสารจีนหรืออังกฤษกันแน่ มันเหมือนกันมาก แต่พอเริ่มมีแฟน (ชอบเขาข้างเดียว) เป็นคนสิงคโปร์เท่านั้นแหละ เริ่มคุ้นเคยสำเนียงเลย จนบางครั้งก็พูดสำเนียงเขาไปเลย

ด้วยความที่เป็นคนสวย หลังจากเสร็จงานเจ้าภาพเลยพาท่องเที่ยวรอบเกาะสิงคโปร์ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เช่น เกาะเซ็นโตซ่า (Sentosa) รูปปั้นสิงโตพ่นน้ำ ตึกทุเรียน ไซน่าทาวน์ และแวะทานอาหารจีน

ทริปนี้ได้เงินไม่เยอะนะ แต่ถือว่าคุ้มค่ามากๆ เพราะได้อะไรที่มันมากกว่าเงิน ได้ประสบการณ์ทำงานที่เป็นแบบสากล ได้เพิ่มพูนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ได้รู้จักเพื่อนชาวต่างชาติทั้งมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ ได้ฝึกใช้ชีวิตในต่างแดน ช่วยเหลือตนเอง และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกเยอะ


ไม่รู้มีใครเคยเป็นเหมือนกันหรือเปล่า หลังที่ได้เที่ยวครั้งหนึ่งแล้ว มันหยุดไม่ได้ ใจมันเรียกร้องตลอดเวลาว่าต้องไปออกเที่ยวนะ ก็มองหาโครงการอื่นๆ อีก มันต้องมีสิ จนมาเจอ โครงการ Disney Summer Work Experience เขาชวนเด็กไทยไปทำงานที่สวนสนุกดิสนีย์ อเมริกา 3 เดือน ตาลุกวาวมาก คิดในในฉันต้องเป็นหนึ่งคนที่ได้ไปโครงการนี้

ความอยากมันเป็นพลังขับเคลื่อนทุกอย่าง จากที่ไม่พร้อมอะไรเลย พอมีพลังความอยาก ทุกข้อจำกัดมันจะหายไป มันจะสรรหาทุกวิธีทางทำตัวเองให้พร้อม กว่าจะผ่านมาได้ก็สะบักสบอมเหมือนกันนะ สัมภาษณ์หลายรอบมาก เจ้าหน้าที่ดูประสบการณ์การทำงานและทักษะภาษาอังกฤษเป็นหลัก พอผ่านแล้วก็ใช่ว่าจะดีใจแบบคนอื่นเขาได้นะ ไม่มีเงินค่าทำวีซ่ากับค่าตั๋วเครื่องบินอีก ต้องไปขอยืมญาติๆ มา ชีวิตมันไม่เคยมีอะไรง่ายๆ เลย แต่ก็ภูมิใจมากนะวันที่มายืนเหยียบแผ่นดินอเมริกา ประเทศที่เคยฝันไว้ว่าจะมาให้ได้สักครั้งในชีวิต



รอบนี้ได้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ (Park Operation) ที่ Magic Kingdom, Walt Disney World Resort (WDW), Orlando, Florida, USA แล้วก็ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ รับหน้าที่คุมขบวนพาเหรดตัวการ์ตูนดิสนีย์อีกด้วย (Parade Audience Control) 

ถือว่าโชคดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะนอกจากจะได้มาเยือนดินแดนในฝันอย่างดิสนีย์  ได้พบเจอตัวการ์ตูนที่เคยดูในโทรทัศน์ ได้เล่นเครื่องเล่นสนุกๆ แบบฟรีๆ แล้ว ยังได้ฝึกงานกับองค์กรระดับโลก ซึ่งการทำงานมีคุณภาพ มาตราฐาน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ ทำให้ได้ฝึกพัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น การตรงต่อเวลา การมีระเบียบวินัยในการทำงาน ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม การรู้จักพัฒนาตัวเอง พัฒนางานอยู่ตลอดเวลา การรักษาความสะอาดในการทำงาน การฝึกฝนการสื่อสารและให้บริการที่ดี การเรียนรู้ ยอมรับในความแตกต่าง ทั้งเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรม และได้ฝึกความกล้าแสดงออก มีความมั่นใจในการทำงาน นอกจากนี้ยังได้รู้จักเพื่อนชาวต่างชาติจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, เปรู, ชิลี, อังกฤษ, และนิวซีแลนด์ ทำให้ได้เพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้มิตรภาพดีๆ ความทรงจำที่สวยงามในชีวิต  

หลังจากโครงการนี้เสร็จก็เรียนจบพอดี พอไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว มันหาโครงการไปเมืองนอกแบบฟรีๆ ยากมาก แต่ใจมันก็ไม่หยุด ก็เลยคิดว่า เอาวะ มีงานทำแล้ว เก็บเงินไปเที่ยวละกัน ครั้นจะมาเที่ยวหรูหราแบบคนอื่น งบก็ไม่ถึงนะคะ เลยเอาเป็นแบกเป้เที่ยวละกัน แต่จะไปไหนละ กลัวอยู่นะ ผู้หญิงเดินทางคนเดียว

ไม่รู้กฏของแรงดึงดูดหรืออะไร เพื่อนจากโรมาเนียที่เคยรู้จักกันตอนเขามาแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกที่ไทยติดต่อมาพอดี ก็เลยคิดว่านี่ไงไปเยี่ยมเพื่อนสิ ไม่ต้องเที่ยวเอง แล้ว ประเทศโรมาเนีย (Romania) ค่าครองชีพก็ไม่สูงมาก แต่สวยและโรแมนติกไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรปเลย

โรมาเนียเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีคนไทยไปเที่ยวมาก ทำให้ไม่ค่อยมีข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้อ่าน คือต้องงมเองทุกอย่าง  ตั้งแต่วีซ่า จองตั๋วเครื่องบินราคาถูก หาโรงแรม หาที่เที่ยวเด็ดๆ

เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด ไม่เท่าเราได้ชมด้วยตัวเอง ประเทศโรมาเนีย เป็นประเทศที่สวย มีเสน่ห์แบบหาคำบรรยายไม่ได้ เหมือนเราหลุดเข้าไปในนิยายสมัยโบราณ ในชนบทบนถนนยังมีรถม้า คนแก่ๆ ยังคงสวมใส่ชุดพื้นเมือง ข้างถนนยังมีสถาปัตยกรรมโบราณที่สวยงามไว้รอรับแขกผู้มาเยือน การมาท่องเที่ยวครั้งนี้ทำให้ได้เห็นหิมะเป็นครั้งแรก ได้เรียนรู้ภาษาโรมาเนีย วิถีชีวิต วัฒนธรรม  ได้ฝึกทำอาหาร และได้ฝึกร้องเพลงคริสมาต์เป็นภาษาโรมาเนีย  คือมันสนุก และประทับใจมากๆ นี้สินะที่เป็นการเรียนรู้จริงๆ แบบที่โรงเรียนไม่เคยสอน

จากนั้นพอว่างเมื่อไหร่ต้องแบกเป้เที่ยวคะ ในใจมีแต่แผนการท่องเที่ยว อยากไปทุกประเทศ โดยเฉพาะยุโรป หนุ่มๆ แถบนี้หล่อทุกคน จนคิดว่าอยากจะแต่งงานย้ายไปอยู่ซะเลย แต่ยังไงไม่รู้นะ ไปๆ มาๆ ได้แต่งงานกับหนุ่มอเมริกันแทน 

ปัจจุบันลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็คิดว่าไม่ย้ายไปอยู่ที่ไหนแล้วละ เพราะชอบที่นี่มาก อากาศดี คล้ายๆ กับที่ไทย ผู้คนก็น่ารัก  คุณภาพชีวิตก็ดี ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ตอนย้ายมาอยู่ที่นี่ช่วงแรก ข้อมูลการเตรียมตัวต่างๆ ยังมีไม่มาก ทำให้การใช้ชีวิตที่นี่ยากพอสมควร คิดไว้ในใจตลอดว่าพอตัวเองมีความรู้มากพอ มีประสบการณ์เยอะๆ จะเอาข้อมูลมาแบ่งปันคนอื่นบ้าง ก็เลยเป็นที่มาของการทำ Blog นี้ขึ้นมา

นอกจากเรื่องราวดีๆ ที่เอามาแบ่งปันแล้ว ก็ยินดีให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือในการหาข้อมูลด้านการทำวีซ่า หาตั๋วเครื่องบิน วางแผนเก็บเงิน เตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษ การหาที่เรียน ที่ทำงาน หาข้อมูลการใช้ชีวิตในต่างแดน  หากใครมีคำถามก็ฝากไว้เลยนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน หากต้องการเสนอแนะ ติชม วิจารณ์ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถติดต่อได้ที่  http://facebook.com/nantaporn.kumyod และ nantapornv@gmail.com