วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอาเซียน

"โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอาเซียน" จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทย และขณะเดียวกันก็ใช้การศึกษานำไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยให้นักศึกษาสัญชาติไทยที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งรัฐ และเอกชนได้รับจัดสรรทุนไปศึกษาระยะสั้นเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา แต่ไม่เกิน 4 เดือน ในสาขาวิชาต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน และสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดในประเทศไทยได้

นักศึกษาต้องดูประกาศรับสมัครจากมหาวิทยาลัย จากนั้นส่งใบสมัคร และมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้คัดเลือกนักศึกษา และส่งรายชื่อไปยังสำนนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ 

1. ต้องเป็นนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาไทยและนักศึกษาต้องมีสัญชาติไทย
2. มีหนังสือรับรองจากสถาบันอุดมศึกษาว่าผู้สมัครมีสุขภาพกายและจิตแข็งแรง
3. กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี (ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป และยังคงสถานภาพนักศึกษาณ วันที่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ                             
4. มีคะแนนเฉลี่ยสะสมจนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัครไม่ต่ำกว่า 2.75
5. รายวิชาที่ไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพ (Host institutions) ต้องเป็นรายวิชาที่สัมพันธ์กับวิชาเอกหรือโทที่ศึกษาอยู่
6. มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพที่จะไปศึกษาได้ดี 
7. นักศึกษาที่ไปศึกษาสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตลอดภาคการศึกษาตามระบบการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่สมัครไปแลกเปลี่ยน (อาจเป็น Semester, Trimester หรือ Quarter) แต่ไม่เกิน 4 เดือน
8. ผู้สมัครทุนต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด

หลักฐานการสมัครเข้าร่วมโครงการ

1. แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกข้อความครบถ้วน (ตัวจริง) จำนวน 1 ชุด ดาวน์โหลดที่นี่
2. หนังสือเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด (Home institutions) ลงนามโดยอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ (ตัวจริง) จำนวน 1 ฉบับ
3. หนังสือตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพ จำนวน 1 ฉบับ
4. สำเนาระเบียนผลการศึกษา (Transcript of record) จนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัคร จำนวน 1 ชุด (หากใช้สำเนา ต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
5. หลักฐานแสดงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพที่จะไปแลกเปลี่ยน จำนวน 1 ชุด
6. แบบฟอร์มการรับรองการถ่ายโอนหน่วยกิต ดาวน์โหลดที่นี่
7. หนังสือรับรองสุขภาพจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด

หมายเหตุ:
1. กรณีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ต้องแสดงผลสอบ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน (Paper-based) หรือ 173 ตามระบบ Computer-based หรือ 61 ตามระบบ Internet-based หรือผลสอบ IELTS ไม่ต่ำกว่า 5.0 หรือมีผลคะแนนภาษาอังกฤษ Chulalongkorn University Test of English Proficiency (CU-TEP) หรือ Thammasat University General English Test (TU-GET) ที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้
2. ผู้สมัครที่ใช้ภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ (1) ในการศึกษา ณ สถาบันอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีสำเนาระเบียนผลการศึกษา (Transcript of record) ที่แสดงว่ามีการเรียนภาษานั้นๆ และมีความสามารถทางภาษานั้นๆ ในระดับดี (รายวิชาที่เกี่ยวข้องต้องได้เกรด B)

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

1. สถาบันอุดมศึกษาจัดลำดับและเสนอชื่อผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ภายในวันที่ 30 มีนาคม
2. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศผลภายในวันที่ 30 เมษายน
3. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเดินทางก่อนวันที่ 30 กันยายน

หมายเหตุ 
1. การส่งใบสมัครทางไปรษณีย์จะถือวันที่ที่ไปรษณีย์ต้นทางประทับตราเป็นสำคัญและไม่รับใบสมัครหรือหลักฐานต่างๆ ที่ส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
2. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเพิ่มเติม หากมีทุนเหลือเพียงพอ

การพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการ

การพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารและดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนักศึกษาไทยและอาเซียน โดยพิจารณาจาก

- ผู้สมัครที่กรอกรายละเอียดในใบสมัครและแนบหลักฐานประกอบการสมัครครบถ้วน 
- ผู้สมัครที่มีหนังสือตอบรับให้เข้าศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพซึ่งระบุรายวิชาที่รับลงทะเบียนเรียน มีการตกลงให้ถ่ายโอนหน่วยกิตและกำหนดระยะเวลาให้เข้าศึกษาชัดเจน 
- ผู้สมัครไม่อยู่ระหว่างรับทุนหรือสมัครรับทุน ณ ต่างประเทศจากแหล่งอื่น 
- รายวิชาที่ไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพต้องสัมพันธ์กับวิชาเอกหรือโทที่ศึกษาอยู่ 

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการบริหารและดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอาเซียนจะถือเป็นที่สิ้นสุด

ค่าใช้จ่ายที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้การสนับสนุน

1. ค่าเบี้ยเลี้ยงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนและที่พักแบบเหมาจ่ายไม่เกินจำนวน 800 USD ต่อเดือน 
2. ค่าเดินทางดังนี้ 
- ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ (อัตราตั๋วราชการชั้นประหยัด) ซึ่งออกโดยบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) จากประเทศไทยไปยังสนามบินปลายทางประเทศสมาชิกอาเซียน (ไม่รวมค่าบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ) หากมีค่าใช้จ่ายเกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนด ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง 
- ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่น หรือประสงค์จะซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตัวแทนจำหน่ายสามารถดำเนินการได้ ให้เบิกจ่ายได้ไม่เกินราคาที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินอัตราตั๋วราชการชั้นประหยัดที่กำหนดไว้ 
- ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเดินทางโดยพาหนะได้สำหรับบางประเทศที่เป็น เพื่อนบ้านของประเทศไทยแต่ต้องเบิกตามราคาแต่ละบุคคล โดยเบิกในอัตราที่ประหยัดสุดตามระเบียบของทางราชการและมิให้จ้างเหมาพาหนะ 
3. ค่าวีซ่าและภาษีสนามบินเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้สมัครรับทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 5,000 บาทเอง 
4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตและอุบัติเหตุเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้สมัครรับทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 5,000 บาทเอง 

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสำหรับค่าลงทะเบียนเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา หากเข้าร่วมโครงการไม่ครบตามเวลาที่ได้รับอนุมัติ จะต้องคืนค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าที่พักที่อยู่ไม่ครบโดยคิดเป็นรายวัน

การติดตามประเมินผล

หลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมโครงการ ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุกคนจะต้องส่งเอกสารไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดังนี้ 
1. รายงานการเข้าร่วมโครงการตามแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 
2. แบบฟอร์มการถ่ายโอนหน่วยกิตที่ระบุรายวิชา ผลการศึกษา และจำนวนหน่วยกิตที่ไปศึกษา ณสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพ รวมทั้งผลการศึกษาและจำนวนหน่วยกิตที่ถ่ายโอนกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด 
3. สำเนาระเบียนผลการศึกษา (Transcript of record) หรือหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงว่าได้ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นๆ พร้อมระบุหน่วยกิตของแต่ละวิชา 
4. รายงานการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 

ติดต่อรายละเอีดเพิ่มเติม

โทร: 02-610-5402 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น