วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ยื่นเรื่องกรีนการ์ด (Green Card) ง่ายๆ ทำได้ด้วยตนเอง

หลังจากที่ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปซะนาน ได้แต่ตอบคำถามในบล็อกอย่างเดียว หลังจากจัดการธุระต่างๆ เรียบร้อย ก็ได้โอกาสกลับมาเขียนอีกครั้ง

บทความนี้เขียนสำหรับคนไทยที่มีโอกาสไปเรียนต่อ ทำงาน เข้าร่วมโครงการ หรือแลกเปลี่ยนที่อเมริกา แล้วเกิดตกลงปลงใจแต่งงานกับชาวอเมริกัน และตัดสินใจจะใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา ซึ่งหลังจากแต่งงานแล้วก็จะต้องมีการทำกรีนการ์ด (Green Card) หรือบัตรเขียว

หลายคนอาจสงสัยว่าทำได้ด้วยตนเองเลยเหรอ ใช่คะ ทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องจ้างทนายให้เปลืองเงิน โดยบทความนี้จะแนะนำวิธีการเตรียมตัวทำกรีนการ์ด ตั้งแต่การกรอกเอกสาร หลักฐาน ไปจนถึงการสัมภาษณ์

ก่อนอื่นนั้นเรามาทำความรู้จักกับเจ้ากรีนการ์ดกันก่อนเลยว่ามันคืออะไร มีกี่ประเภท

กรีนการ์ด (Green Card) เป็น
บัตรประจำตัวที่รัฐบาลอเมริกันออกให้สำหรับบุคลลที่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาอยู่อาศัยรวมทั้งทำงานอย่างถาวรในสหรัฐอเมริกา
 

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรีนการ์ดแบบมีเงื่อนไข (Conditional Green Card) มีอายุ 2 ปี คนที่จะได้รับกรีนการ์ดประเภทนี้ ได้แก่ คนที่ขอกรีนการ์ดโดยการแต่งงานกับพลเมืองสหรัฐฯ รวมทั้งผู้ที่ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่จากการลงทุนเพื่อการสร้างงานในสหรัฐฯ อีกประเภทหนึ่งคือ กรีนการ์ดแบบถาวรที่ต้องต่ออายุทุกๆ 10 ปี โดยผู้ถือกรีนการ์ดทั้งสองแบบนั้นต่างมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบเท่า ๆ กัน ความแตกต่างระหว่างกรีนการ์ดทั้งสองแบบมีเพียงเล็กน้อย คือ กรีนการ์ดแบบมีเงื่อนไข จะหมดอายุภายใน 2 ปี จำเป็นต้องยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนเงื่อนไขนั้นออกไป ถึงจะได้กรีนการ์ดถาวรแบบ 10 ปี 




สิทธิ

1. มีสิทธิอยู่อาศัยในสหรัฐฯ เป็นการถาวร โดยไม่กระทำการใดๆ เป็นผลให้สิทธิถูกถอดถอนไป
2. มีสิทธิทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากทางการสหรัฐฯ ทั้งกฎหมายระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น
4. สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น เฉพาะการเลือกตั้งที่ไม่จำกัดไว้สำหรับพลเมืองสหรัฐฯ

ข้อยกเว้น

- ไม่สามารถทำงานบางอย่างที่สามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งจะจำกัดไว้ให้เพียงพลเมืองสหรัฐฯ เท่านั้น 
- ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งที่จำกัดสิทธิไว้ให้เพียงพลเมืองสหรัฐฯ เท่านั้น

หน้าที่ความรับผิดชอบ

1. ต้องปฏิบัติตนภายใต้กรอบของกฎหมายสหรัฐฯ ทั้งกฎหมายระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น 
2. มีหน้าที่ที่จะต้องยื่นใบคืนภาษีรายได้ (Income Tax Returns) และรายงานรายได้ต่อสรรพกรประจำรัฐและประจำประเทศ (US Internal Revenue Service and State IRS) 
3. จะต้องสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย และไม่กระทำการใด ๆ เพื่อล้มล้างรัฐบาลด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย 
4. หากเป็นเพศชาย อายุ 18-25 ปี จะต้องเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการทหาร

การที่จะได้มาซึ่งกรีนการ์ดนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ 


1. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางสายสัมพันธ์ทางครอบครัว (Immigration through a Family Member) เรียงตามลำดับความสำคัญได้ตามนี้
- สามีภรรยา
- ผู้เยาว์ซึ่งยังไม่ได้สมรสอายุต่ำกว่า 21 ปี เช่น ลูก หลาน พี่ น้อง ลูกติดสามี ภรรยา
- บุตรที่ยังไม่ได้สมรสอายุเกิน 21 ปี
- บุตรที่สมรสแล้วไม่จำกัดอายุ
- พ่อ แม่ และพี่หรือน้องในกรณีที่สปอนเซอร์อายุตั้งแต่ 21 ปี

2. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางการจ้างงาน (Immigration through Employment) 

3. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านการลงทุน (Immigration through Investment) 

4. การขอตั้งถิ่นฐานโดยผ่านทางโครงการเสี่ยงโชคกรีนการ์ด (Immigration through the Diversity Lottery) โดยใช้วิธีสุ่มจับหมายเลขผู้สมัครกรีนการ์ดลอตโตรี่จากทั่วโลก ผู้ที่ได้รับกรีนการ์ดประเภทนี้ยังสามารถพาคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่ได้สมรสอายุต่ำกว่า 21 ปี มาอยู่ด้วยได้


หลังจากที่รู้จักกรีนการ์ดมาพอสมควรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนดำเนินการ

1. เริ่มจากการแต่งงาน จดทะเบียนสมรส และขอใบทะเบียนสมรส (Marriage Certificate) แต่ละรัฐจะใช้เวลาในการขอใบทะเบียนสมรสแตกต่างกันออกไป อย่างน้อยประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากที่ทำเรื่องจดทะเบียนสมรสแล้ว

2. ไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองด้านสุขภาพ (Report of medical examination and vaccination record) ขั้นตอนนี้จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ปอด ทำ TB Skin Test และฉีดวัคซีน โดยสามารถเช็ครายชื่อคลินิค หรือโรงพยาบาลที่สามารถทำใบรับรองสุขภาพได้ ที่นี่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 200-400 USD ใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน แพทย์จะกรอกรายงานสุขภาพลงในแบบฟอร์ม I-693 จากนั้นจะเอาแบบฟอร์มให้เรา 2 ชุด ตัวจริง 1 ชุดใส่ซอง ปิดผนึก ห้ามเปิด เราใช้ตัวนี้ในการยื่นเรื่องกรีนการ์ด ส่วนอีกอันเป็นสำเนาให้เราเปิดดูรายละเอียดได้

3. กรอกแบบฟอร์ม สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มทั้งหมดได้ที่ www.uscis.gov

4. เตรียมเอกสารหลักฐานของทั้งสองฝ่าย

5. ส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมเช็คทางไปรษณีย์

6. สามารถเช็คสถานะการดำเนินเรื่องทางเว็บไซต์ www.uscis.gov หรือใช้บริการการส่งความเคลื่อนไหวผ่านข้อความทางมือถือได้

7. หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนจะได้รับจดหมายให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูป เป็นรูปใช้ติดในกรีนการด์ ดังนั้นควรแต่งหน้าและทำผมให้ดูดี เป็นพิเศษ

8. หลังจากวันที่พิมพ์ลายนิ้วมือผ่านไปประมาณ 1-3 เดือน ก็จะได้รับจดหมายให้ไปสัมภาษณ์ ขั้นตอนนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เตรียมตอบคำถามให้ดี เตรียมหลักฐานให้แน่นหนา จะผ่านไม่ผ่านก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้เป็นสำคัญ โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ทำใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวลเกินไป
- ตรวจสอบสถานที่สัมภาษณ์ว่าตั้งอยู่ที่ไหน สามารถเดินทางได้อย่างไร และใช้เวลาในการเดินทางเท่าไหร่ หากจะให้ดีก่อนวันสัมภาษณ์ควรซ้อมเดินทางจากบ้านไปที่สถานที่สัมภาษณ์ ทั้งนี้เพื่อจะได้แน่ใจว่าสถานที่ตั้งอยู่ตรงไหน และเราสามารถเดินทางไปถูก ไม่หลงทาง
- แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ดูน่าเชื่อถือ
- มาถึงก่อนนัดหมายประมาณ 15-30 นาที
- เตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบทั้งตัวจริง และสำเนา และจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่
- อย่าลืมรูปถ่ายของทั้งสองฝ่ายที่เคยเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่งงาน และฮันนีมูน หรือรูปถ่ายครอบครัวที่บอกเล่าเรื่องราว แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ควรจัดรูปใส่อัลบั้ม (เรียงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน) พร้อมบรรยายใต้ภาพด้วยข้อความสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษ
- ตอบคำถามให้ชัดเจน ตรงประเด็น โปร่งใส จริงใจ สามารถดูตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์ได้ ที่นี่
- หากไม่เข้าใจคำถาม ขอให้เจ้าหน้าที่ถามอีกรอบ หรืออธิบายคำถาม อย่าตอบแบบส่งๆ หรือขอไปที
- ในวันที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็จะบอกผลเลยว่าผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านควรถามเหตุผลที่ทำให้เรื่องไม่ผ่าน และวิธีปฏิบัติต่อไป

9. หากเรื่่องผ่าน ภายใน 1-3 สัปดาห์ ก็จะได้รับกรีนการ์ด



หลักฐานเอกสารที่ต้องเตรียม

เอกสารที่ต้องเตรียมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ เอกสารของเรา, เอกสารของคู่สมรส เอกสารที่ต้องยื่นร่วมกัน และเช็ค

1. เอกสารของเรา
- สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก และหน้าที่มีวีซ่าอเมริกา
- สำเนา I-94 แบบฟอร์มเข้าประเทศอเมริกา เอกสารนี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเอามาให้เรากรอก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะประทับตราวันที่เราเข้าประเทศ และวันที่เราต้องเดินทางออกจากประเทศอเมริกา
- รูปถ่าย ขนาด Passport Size พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่น จำนวน 2 รูป เขียนชื่อ นามสกุล ติดหลังรูปให้เรียบร้อย สามารถถ่ายรูปได้ที่ Walgreens
- ใบเกิด (Birth Certificate) ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อย และได้รับการรับรองจากกรมการกงศุล กระทรวงต่างประเทศ หรือ Public Notary ที่ใกล้บ้านเรา
- ใบทะเบียนสมรส (Marriage Certificate) 
- แบบฟอร์ม G-325A – biographic information อันนี้เป็นแบบฟอร์มข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราว่าเป็นใคร เกิดที่ไหน อาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานอะไรมาก่อน แต่งงานวันไหน คู่สมรสชื่ออะไร 
- แบบฟอร์ม I-693 - report of medical examination and vaccination record แบบฟอร์มการตรวจร่างกาย และประวัติการฉีดวัคซีน ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ 
- แบบฟอร์ม I-485 application to register permanent residence or adjust status แบบฟอร์มการสมัครขอกรีนการ์ด
- แบบฟอร์ม I-765 application for employment authorization แบบฟอร์มขออนุญาตทำงาน อันนี้มีหรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน ตามกฏหมายของอเมริกัน หากยังไม่ได้รับกรีนการด์ ห้ามทำงาน หากอยากทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมายในระหว่างช่วงที่รอกรีนการ์ดก็ควรกรอกแบบฟอร์มนี้เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตทำงาน
- แบบฟอร์ม I-131 application for travel document แบบฟอร์มขออนุญาตออกนอกประเทศ ในระหว่างช่วงที่รอกรีนการ์ดนั้น ไม่ควรเดินทางออกนอกประเทศ หากมีความจำเป็นต้องออกนอกประเทศ ควรกรอกแบบฟอร์มนี้ไปด้วย 

2. เอกสารของคู่สมรส
สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรก
- รูปถ่าย ขนาด Passport Size พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่น จำนวน 2 รูป เขียนชื่อ นามสกุล ติดหลังรูปให้เรียบร้อย
- สำเนาใบเกิด (Birth Certificate) ของคู่สมรส
- สำเนา Tax return and W-2s เอกสารการใบขอคืนภาษีย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี 
- สำเนาสลิปเงินเดือน 3 เดือนล่าสุด 
- จดหมายรับรองการทำงาน ระบุตำแหน่งงาน ระยะเวลาที่ทำงาน เงินเดือน โบนัส พร้อมตราประทับของบริษัท 
- แบบฟอร์ม G-325A – biographic information เหมือนกับของเรา แต่เป็นข้อมูลขอผู้สมรส
- แบบฟอร์ม I-130 petition for alien relative แบบฟอร์มสปอนเซอร์ โดยคนที่จะเป็นสปอนเซอร์ให้เราได้นั้นจะต้องเป็นพลเมืองอเมริกันหรือผู้อาศัยถาวร ที่มีรายได้หลังหักภาษีตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด 
- แบบฟอร์ม I-864 affidavit of support แบบฟอร์มข้อมูลรายได้ และการเสียภาษีของคู่สมรส 

3. เอกสารที่ต้องยื่นร่วมกัน
- อัลบัมรูปถ่าย
- บัญชีธนาคารที่เปิดร่วมกัน (Join Bank Account )
- ประกันสุขภาพ (Health Insurance ) และประกันชีวิต (Life Insurance) ที่มีชื่อของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

หมายเหตุ: ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามอย่าง แต่ควรมีสองอย่างขึ้นไป

4. เช็ค แบ่งเป็นสองใบด้วยกัน ได้แก่ ใบแรกสั่งจ่าย จำนวน 1,070 เหรียญ สำหรับแบบฟอร์ม I-485 เช็คอีกใบสั่งจ่าย จำนวน 420 เหรียญ สำหรับแบบฟอร์ม I-130 สั่งจ่ายในนาม Department of Homeland Security. จ่ายให้ตรงจำนวน หากขาดหรือเกิน ทางเจ้าหน้าที่จะไม่รับเรื่อง (ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช็คค่าใช้จ่ายอีกครั้งก่อนยื่นเรื่องที่ www.uscis.gov) และสามารถดูตัวอย่างการเขียนเช็คเพื่อสั่งจ่ายได้ ที่นี่

หลังจากนั้นส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมเช็คไปที่
U.S. Citizenship and Immigration Services
PO Box 805887
Chicago, IL 60680-4120


หากมีข้อสงสัยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.usvisa4thai.com หรือ www.uscis.gov

หมายเหตุ: ระยะเวลาในการยื่นเรื่องของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐที่อาศัยอยู่ หากรัฐนั้นมีคนยื่นเรื่องเยอะ คิวยาว ก็จะต้องรอนานหน่อย โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลา 3-7 เดือน


1 ความคิดเห็น:

  1. อยากสอบถามงานด้านเครื่องมือเเพทย์ (เครื่องมือตา) สามารถขอวีซ่ามาทำงานได้หรือป่าวครับทาง อเมริกา ขาดเเคลนบุคลากรด้านนี้หรือป่าวครับผมมีประการณ์ที่เมืองไทย 8 ปี มีใบ certificate service training หลายใบจากหลายประเทศร่วมถึง usa ด้วยครับตอนนี้ยังทำงานด้านนี้อยู่ที่เมืองไทยมี วีซ่า b1 b2 10ปีจากบริษัท ส่งมา training พูดภาษาอังกฤษได้ดี เคยอยุ่ นิวซีแลนด์ 10 ปี รบกวนเวลาให้ความรู้ด้วยนะครับ email afta.siwakorn.service@gmail.com

    ตอบลบ